การเปรียบเทียบประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองซิฟิลิสด้วยวิธีแบบดั้งเดิมและแบบย้อนทางในหญิงตั้งครรภ์และคู่เพศสัมพันธ์ โรงพยาบาลวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์

-

ผู้แต่ง

  • ณัฏฐ์วริยา หอมสุคนธ์ กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยาคลินิก โรงพยาบาลวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์

คำสำคัญ:

ซิฟิลิส, การตรวจคัดกรองซิฟิลิสแบบดั้งเดิม, การตรวจคัดกรองซิฟิลิสแบบย้อนทาง

บทคัดย่อ

โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สำคัญ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท (neurosyphilis) และความพิการแต่กำเนิด (congenital syphilis) ในทารกจากมารดาติดเชื้อ ปัจจุบันการตรวจคัดกรองซิฟิลิสมี 2 แนวทางคือวิธีแบบดั้งเดิม (Traditional Algorithms) และแบบย้อนทาง (Reverse Algorithms) การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองซิฟิลิสทั้ง 2 วิธีในหญิงตั้งครรภ์และคู่เพศสัมพันธ์ จำนวน 880 ราย ที่โรงพยาบาลวิเชียรบุรี ระหว่างเดือนมีนาคมถึงตุลาคม 2566 วิธีแบบดั้งเดิมเริ่มต้นการนำตัวอย่างเลือดมาตรวจด้วยด้วยวิธี Rapid Plasma Reagin (RPR) และทดสอบหา titer หากผล reactive การตรวจด้วยวิธีแบบย้อนทางเริ่มต้นด้วยวิธีการตรวจ Anti TP (initial TT) โดยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ รายงานผลพร้อมค่า Cut-Off Index (C.O.I) หากมีผลบวกจะตรวจต่อด้วยวิธี RPR หาก reactive จะทดสอบหา titer กรณีผลเป็นลบจะส่งตรวจ TPHA (second TT) วิเคราะห์ค่าความไว (sensitivity), ความจำเพาะ (specificity), ความน่าจะเป็นที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคจริงเมื่อการตรวจให้ผลบวก (Positive Predictive Value: PPV), ความน่าจะเป็นที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคเมื่อการตรวจให้ผลเป็นลบ (Negative Predictive Value: NPV) อัตราส่วนของความน่าจะเป็นของผลการตรวจเป็นบวกในผู้ที่เป็นโรคเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เป็นโรค (Positive Likelihood Ratio: LR+) และเปรียบเทียบค่า RPR Titer กับ C.O.I ของ Anti TP  จากการศึกษาพบว่าการตรวจคัดกรองวิธีแบบย้อนทางมีความไวดีกว่าแบบดั้งเดิมคือ 100%, 77.8% ตามลำดับ ทั้งสองวิธีมีค่าความจำเพาะเท่ากันคือ 99.9% ค่า PPV, NPV และ LR+ ของวิธีแบบย้อนทางมีค่า 94.7%, 100% และ 862 สูงกว่าวิธีแบบดั้งเดิมคือ 93.3%, 99.5% และ 670.4 ตามลำดับ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซิฟิลิส 18 ราย เมื่อตรวจคัดกรองด้วยวิธีแบบย้อนทางได้ผลบวกทั้งหมด ขณะที่ตรวจคัดกรองด้วยวิธีแบบดั้งเดิมได้ผลบวกเพียง 14 รายเกิดผลลบลวง (false negative) 4 ราย และผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่เป็นโรคซิฟิลิส 862 ราย เมื่อตรวจคัดกรองด้วยวิธีแบบย้อนทางเกิดผลบวกลวง (false positive) 1 ราย ผู้ป่วยที่ตรวจด้วยวิธีแบบดั้งเดิมแล้วให้ผลลบลวง (false negative) มีค่า C.O.I. น้อยกว่า 30 ทั้งหมด และผู้ป่วยที่มีค่า RPR Titer 1:32 ค่า C.O.I. มากกว่า 100 ทั้งหมด  โดยสรุปการตรวจคัดกรองซิฟิลิสแบบย้อนทางมีประสิทธิภาพดีกว่าแบบดั้งเดิม ตรวจพบผู้ติดเชื้อในอัตราที่มากกว่าและบ่งบอกโอกาสในการวินิจฉัยได้ดีกว่า  ดังนั้นจึงควรนำวิธีการตรวจคัดกรองซิฟิลิสแบบย้อนทางมาใช้ในการตรวจคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์และคู่เพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการวินิจฉัยผิดพลาด   ลดการสูญเสียโอกาสในการรักษา และลดการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกซึ่งนำไปสู่การเกิดความพิการแต่กำเนิด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

27-12-2024

How to Cite

1.
หอมสุคนธ์ ณ. การเปรียบเทียบประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองซิฟิลิสด้วยวิธีแบบดั้งเดิมและแบบย้อนทางในหญิงตั้งครรภ์และคู่เพศสัมพันธ์ โรงพยาบาลวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์: -. PMJ [อินเทอร์เน็ต]. 27 ธันวาคม 2024 [อ้างถึง 6 เมษายน 2025];4(3):1-12. available at: https://he03.tci-thaijo.org/index.php/PMJ/article/view/2848