เกณฑ์ทำนายทางคลินิกของภาวะเลือดออกในสมองหลังให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลัน ใน รพ.เพชรบูรณ์
คำสำคัญ:
การพยากรณ์, ภาวะเลือดออกในสมอง, ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ, โรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเกณฑ์ทำนายทางคลินิกสำหรับพยากรณ์ภาวะเลือดออกในสมองหลังให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (rt-PA) ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันในโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โดยทำการศึกษาแบบ Retrospective cohort study ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันที่ได้รับยา rt-PA ที่เข้ารักษาที่ stroke unit โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยจำแนกภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ไม่มีภาวะแทรกซ้อน 2) มีภาวะแทรกซ้อนเลือดออกในสมองแต่ไม่มีอาการ และ 3) มีภาวะแทรกซ้อนเลือดออกในสมองร่วมกับอาการทางระบบประสาทที่ทรุดลง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ Ordinal logistic regression เพื่อสร้างเกณฑ์ทำนายภาวะเลือดออกในสมอง โดยพิจารณาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนและใช้ Area Under the Receiver Operating Characteristic Curve (AuROC) เพื่อประเมินความแม่นยำของเกณฑ์ทำนายนี้ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยจำนวน 317 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ไม่มีภาวะแทรกซ้อน 260 ราย (ร้อยละ 82.0), 2) มีภาวะแทรกซ้อนเลือดออกในสมองแต่ไม่มีอาการ 15 ราย (ร้อยละ 4.8), และ 3) มีภาวะแทรกซ้อนเลือดออกในสมองร่วมกับอาการทางระบบประสาทที่ทรุดลง 42 ราย (ร้อยละ 13.2) เกณฑ์ทำนาย Symptomatic Intracerebral Hemorrhage (sICH) score ประกอบด้วย 6 ตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง ได้แก่ อายุเกิน 60 ปี ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 mg/dL ประวัติการใช้ยาแอสไพริน NIHSS มากกว่า 20 คะแนน ระดับเกร็ดเลือดต่ำกว่า 250,000 cell/mm³ และการใช้ยาลดความดันโลหิตระหว่างการบริหารยา โดยเกณฑ์ทำนายนี้มีคะแนนตั้งแต่ 0-7.5 คะแนน และมี cut-point ที่ 2.5 คะแนน ค่า AuROC ของเกณฑ์ทำนายนี้เท่ากับ 0.74 (95%CI: 0.70-0.80) สรุป sICH score สามารถทำนายภาวะแทรกซ้อนเลือดออกในสมองร่วมกับอาการทางระบบประสาทที่ทรุดลงได้ดีและมีความแม่นยำสูงในผู้ป่วยชาวไทยที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ สำหรับการศึกษาในอนาคต ควรมีการศึกษาผู้ป่วยที่มีลักษณะทางคลินิกหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการใช้วิธีการศึกษาระยะยาวเพื่อเพิ่มความแม่นยำของเกณฑ์ทำนายและสามารถนำไปใช้ในบริบททางคลินิกได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2024 โรงพยาบาลเพชรบูรณ์

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.