ปัจจัยการตั้งครรภ์ของมารดาที่มีความเกี่ยวข้องกับความแม่นยำใน การวินิจฉัยดาวน์ซินโดรมก่อนคลอดด้วยวิธีการตรวจวัดระดับสารชีวเคมี ในเลือด (quadruple marker test): การศึกษาย้อนหลัง
คำสำคัญ:
การตรวจวัดระดับสารชีวเคมีในเลือด, ความแม่นยำ, การวินิจฉัยภาวะดาวน์ซินโดรมก่อนคลอดบทคัดย่อ
การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์มีความจำเป็นต้องทำการตรวจคัดกรองก่อนคลอด เพื่อค้นหาความผิดปกติของทารกระหว่างตั้งครรภ์ ในปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ด้วยวิธีการที่ปลอดภัย คือ การตรวจวัดระดับสารชีวเคมีในเลือด หรือ quadruple marker test การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยการตั้งครรภ์ของมารดาที่มีความเกี่ยวข้องกับความแม่นยำในการวินิจฉัยภาวะดาวน์ซินโดรมก่อนคลอดด้วยวิธีการตรวจวัดระดับสารชีวเคมีในเลือด รูปแบบการวิจัยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากเวชระเบียนของหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการตรวจวัดระดับสารชีวเคมีในเลือดก่อนคลอดที่มารับบริการที่กลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2564 จำนวน 533 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบบันทึกข้อมูลประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1) ข้อมูลทั่วไป 2) ข้อมูลการตั้งครรภ์ และ 3) ข้อมูลผลการตรวจ quadruple marker test สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน chi-square test, Fisher’s exact test และ binary logistic regression กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการวิจัย พบว่าความแม่นยำในการวินิจฉัยภาวะดาวน์ซินโดรมก่อนคลอดด้วยวิธีการตรวจวัดระดับสารชีวเคมีในเลือดร้อยละ 92.5 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความแม่นยำในการวินิจฉัยภาวะดาวน์ซินโดรมก่อนคลอดด้วยวิธีการตรวจวัดระดับสารชีวเคมีในเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ อายุมารดามากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี (adj.OR=0.23, 95%CI=0.11-0.47, p<0.001) อายุครรภ์ที่ได้รับการตรวจวัดระดับสารชีวเคมีในเลือด 14-16 สัปดาห์ (adj. OR=8.22, 95%CI=1.36-49.80, p=0.022) และทารกเพศชาย (adj. OR=2.56, 95%CI=1.27-5.19, p=0.009) โดยสรุปจากผลการศึกษาสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความแม่นยำและปลอดภัย รวมถึงการวางแผนที่มีคุณภาพในการรักษาทางการแพทย์ต่อไป

Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.