ประสบการณ์การเข้าสู่กระบวนการรักษาของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีที่มี ประวัติดื่มสุรา โรงพยาบาลหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์การเข้าสู่กระบวนการรักษาของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีที่มีประวัติดื่มสุรา โรงพยาบาลหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ วิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) รูปแบบงานวิจัยเชิงปรากฏการณ์วิทยา (phenomenological research) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยไวรัสตับซีที่มีประวัติดื่มสุรา และเริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษาทั้งหมด 17 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยที่เลิกสุราและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ 10 คน และ
ผู้ป่วยที่ยังคงดื่มสุราและอยู่ระหว่างรอรับการรักษาภายหลังเลิกสุราได้ 7 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก(in-depth interview) ผ่านชุดคำถามกึ่งโครงสร้าง (semi-structure) การสังเกตระหว่างสัมภาษณ์ (observation) การจดบันทึกภาคสนาม (field note) การบันทึกเสียง (tape record) และถอดความแบบคำต่อคำ วิเคราะห์ข้อมูลด้วย วิธีการตรวจสอบแบบสามเส้า (data triangulation) และวิเคราะห์เนื้อหาใจความหลัก (content analysis) เพื่อหาโครงสร้างเนื้อหา (themes)
ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ตรวจพบโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยบังเอิญหรือพบจากการตรวจคัดกรองโดยที่ตนเองไม่มีอาการผิดปกติใดๆหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และไม่ได้เป็นที่รังเกียจของสังคม ทำให้ไม่ได้มองว่าโรคนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของตนเองมากนัก ในทางตรงกันข้ามการดื่มสุราเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสังคมช่วยคลายความทุกข์ ช่วยรักษาบางโรค และการหยุดสุราทันทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทำให้เกิดอุปสรรคในการเลิกสุราเพื่อรับยารักษาโรคที่เป็นอยู่ ในส่วนของผู้ป่วยที่เลิกสุราได้พบว่ามีประสบการณ์ตรงที่ได้พบเห็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก่อนทำให้เกิดความกลัว ร่วมกับได้รับแรงสนับสนุนที่ดีจากครอบครัวของตนเองจึงสามารถเลิกสุราได้ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกระบวนการรักษาแต่อย่างใด โดยสรุปควรมีการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสตับซีมากขึ้น และควรมีการพัฒนาระบบหรือกระบวนการที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่ดื่มสุรา สามารถเลิกสุราได้เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี

เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.