ผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการใช้สัญญาณเตือนการเข้าสู่ ภาวะวิกฤต (MEWS) ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด แผนก ศัลยกรรม โรงพยาบาลสุโขทัย

ผู้แต่ง

  • จินดาภรณ์ สายคำอิน หอผู้ป่วยศัลยกรรม กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย

คำสำคัญ:

แนวปฏิบัติการพยาบาล, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, สัญญาณเตือนการเข้าสู่ภาวะวิกฤต (MEWS)

บทคัดย่อ

ผู้ป่วยแผนกศัลยกรรมที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเกิดภาวะวิกฤตที่คุกคามต่อชีวิตและกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายได้ การใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลในการประเมินสัญญาณเตือนการเข้าสู่ภาวะวิกฤต (modified early warning signs: MEWS) ของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ดังกล่าว การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (quasi-experimental research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการใช้สัญญาณเตือนการเข้าสู่ภาวะวิกฤต (MEWS) ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลสุโขทัย
ดำเนินการวิจัยระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 1) พยาบาลวิชาชีพจำนวน 25 คน และ 2) กลุ่มผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองได้รับแนวปฏิบัติการพยาบาลการใช้ MEWS และกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามแนวปฏิบัติปกติกลุ่มละ 30 คน เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยแนวปฏิบัติการพยาบาล การใช้ MEWS ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด แบบประเมินสภาพผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิต (SOS) และแบบบันทึกผลการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการใช้ MEWS วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ความถี่ ร้อยละ independent t-test และ chi-square
test กำหนดระดับนัยสำคัญที่ 0.05

ผลการวิจัย พบว่าผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดที่ได้รับการพยาบาลตามแนวปฏิบัติการพยาบาลการใช้ MEWS มีจำนวนครั้งของการบันทึกสัญญาณชีพ (25.4, 15.5, p<0.001) การรายงานแพทย์ (2.8, 1.6, p<0.001) และการจัดการอาการรบกวน (2.6, 1.3, p<0.001) สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามแนวปฏิบัติปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้การพยาบาลตามแนวปฏิบัติการพยาบาลการใช้ MEWS ผู้ป่วยที่ย้ายเข้าหอผู้ป่วยวิกฤติโดยไม่ได้วางแผน (6.7%, 23.3%, p=0.048) และอุบัติการณ์การเสียชีวิต (0%, 36.7%, p=0.010) ต่ำกว่าการพยาบาลตามแนวปฏิบัติปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
โดยสรุปจากผลการวิจัยครั้งเสนอแนะควรให้มีการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการใช้สัญญาณเตือนการเข้าสู่ภาวะวิกฤตในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดทุกรายเพื่อป้องกันการเกิดภาวะวิกฤต สามารถเฝ้าระวังอาการและรายงานแพทย์เพื่อให้การรักษาได้ทันท่วงที ส่งผลให้ลดอุบัติการณ์การย้ายผู้ป่วยเข้าหอผู้ป่วยวิกฤตโดยมิได้วางแผน และอุบัติการณ์การเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

28-04-2023

How to Cite

1.
สายคำอิน จ. ผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการใช้สัญญาณเตือนการเข้าสู่ ภาวะวิกฤต (MEWS) ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด แผนก ศัลยกรรม โรงพยาบาลสุโขทัย. PMJ [อินเทอร์เน็ต]. 28 เมษายน 2023 [อ้างถึง 6 เมษายน 2025];3(1):78-90. available at: https://he03.tci-thaijo.org/index.php/PMJ/article/view/2985