ประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 ในการป้องกันการติดเชื้อใน กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
คำสำคัญ:
วัคซีนโควิด-19, ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง, โรคติดเชื้อโควิด–19บทคัดย่อ
โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่แพร่ระบาดทั่วโลกเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในมนุษย์ พยาธิสภาพของโรคเกิดขึ้นโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจจึงแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ และในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อและลดการเสียชีวิตได้ การศึกษาแบบตัดขวาง (cross-sectional study) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 ในการป้องกันการติดเชื้อของกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงการติดเชื้อโควิด-19 ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำนวน 1,213 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ จำนวนเข็มของวัคซีนที่ได้รับ ผลตรวจหาเชื้อโดยวิธี Real Time PCR และจำนวนเข็มวัคซีนที่ได้รับต่อการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลา 1 ตุลาคม 2564–30 มีนาคม 2565 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่ามัธยฐาน และค่าสัดส่วนความเสี่ยง (Odds ratio: OR)
ผลการศึกษาพบว่าประสิทธิผลของการได้รับวัคซีนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนตั้งแต่ 1 เข็ม เทียบกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมีประสิทธิผลการป้องกันโรคโควิด-19 ได้เท่ากับ 51% (OR=0.49, 95%CI=0.32-0.75, p=0.001) ในขณะที่กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้รับวัคซีนจำนวน 3-4 เข็ม เทียบกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้รับวัคซีนจำนวน 1 เข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้เท่ากับ 67% (OR=0.33, 95%CI=0.14-0.81, p=0.012) และในกลุ่มผู้สัมผัส
เสี่ยงสูงที่ได้รับวัคซีนจำนวน 3-4 เข็ม เทียบกับการได้รับวัคซีนจำนวน 1-2 เข็ม มีค่าประสิทธิผลการป้องกันโรคโควิด-19 เท่ากับ 74% (OR=0.26, 95%CI=0.12-0.56, p<0.001)
โดยสรุปการได้รับวัคซีนจำนวนตั้งแต่ 3 เข็มขึ้นไปสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้และเป็นประโยชน์อย่างมากในการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการติดเชื้อน้อยลงและไม่มีผู้เสียชีวิตในการศึกษาครั้งนี้

Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.