การสอบสวนการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในห้างสรรพสินค้า แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตุลาคม - พฤศจิกายน 2564

ผู้แต่ง

  • สรรพสิทธิ์ ศรีแสง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

คำสำคัญ:

โควิด-19, SAR-CoV-2, การสอบสวนการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19, ห้างสรรพสินค้า

บทคัดย่อ

บทนำ: วันที่ 19 ตุลาคม 2564 สำนักงานควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สคร.1) ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ (สสจ.เชียงใหม่) เกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในห้างสรรพสินค้า ก ทีมสอบสวนร่วมของ สคร.1 และ สสจ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินการสอบสวนโรคเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและการระบาด พรรณนาลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้ติดเชื้อ ศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระบาด และให้ข้อเสนอแนะมาตรการการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

วิธีการศึกษา: ศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง (cross sectional study) โดยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ทบทวนข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ (CMC-19) และฐานข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ป่วยที่ยืนยันคือพนักงานของห้างสรรพสินค้า ก ที่ตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 ระหว่างวันที่6 ตุลาคม ถึง 28 พฤศจิกายน 2564 ศึกษาสิ่งแวดล้อม ศึกษาเชิงวิเคราะห์และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ และ multiple logistic regression

ผลการศึกษา: ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 48 ราย จาก 374 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.8 อัตราส่วนเพศชายต่อหญิงเท่ากับ 1:1.5 มัธยฐานอายุ 29 ปี ผู้ติดเชื้อรายแรกเริ่มมีอาการ 6 ตุลาคม 2564 เป็นพนักงานร้านอุปกรณ์ช่าง ได้ดื่มสุราสังสรรค์ร่วมกันและเกิดการติดเชื้อกระจายในร้านใกล้เคียง ต่อมามีการปิดทำความสะอาดห้างระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2564 และกักตัวพนักงานเป็นเวลา 14 วัน ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยป้องกันพบว่าปัจจัยป้องกันคือการได้รับวัคซีนบางส่วน (Adjusted OR = 0.22, 95%CI 0.06-0.77, p<0.05) และการล้างมือบางครั้ง (Adjusted OR 0.19, 95%CI 0.05-0.76, p<0.05) ปัจจัยเสี่ยงคือคนในครอบครัวมีการติดเชื้อ (Adjusted OR = 16.57, 95%CI2.87-95.76, p<0.05)

สรุป: การระบาดเริ่มต้นจากร้านขายเครื่องมือช่างที่มีการดื่มสุราร่วมกัน และเชื้อได้แพร่กระจายไปกลุ่มพนักงานร้านใกล้เคียง ปัจจัยความเสี่ยงคือการติดเชื้อจากคนในครอบครัว ปัจจัยป้องกันคือการฉีดวัคซีนและล้างมือเป็นครั้งคราวข้อเสนอแนะ คือการเฝ้าระวังอาการพนักงานทุกคนและตรวจ ATK ทุกคนที่มีอาการ ส่งเสริมการฉีดวัคซีน และการจัดทำแนวทางการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ในห้างสรรพสินค้า

Downloads

เผยแพร่แล้ว

31-08-2023

How to Cite

1.
ศรีแสง ส. การสอบสวนการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในห้างสรรพสินค้า แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตุลาคม - พฤศจิกายน 2564. PMJ [อินเทอร์เน็ต]. 31 สิงหาคม 2023 [อ้างถึง 6 เมษายน 2025];3(2):174-84. available at: https://he03.tci-thaijo.org/index.php/PMJ/article/view/3013