ผลของรูปแบบการเยี่ยมบ้านเชิงรุกในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ยุคโควิด-19 เขตเทศบาลนครแม่สอด

ผู้แต่ง

  • นภัส ทับกล่ำ งานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก

คำสำคัญ:

การเยี่ยมบ้าน, โรคหลอดเลือดสมอง, การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังภาคขยาย (ECCM)

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเยี่ยมบ้านเชิงรุกในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะยาวในเขตเทศบาลนครแม่สอด ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังภาคขยาย (Expanded Chronic Care Model: ECCM) และการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยบริการสุขภาพ การวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะที่ 1 ศึกษาปัญหาการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 2) ระยะที่ 2 พัฒนารูปแบบการเยี่ยมบ้านเชิงรุกในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 3) ระยะที่ 3 ดำเนินงานตามรูปแบบการดูแลผู้ป่วย
โรคหลอดเลือดสมอง และ 4) ระยะที่ 4 ประเมินรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พื้นที่ทำการศึกษา คือ ชุมชน 20 แห่ง ในเขตเทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 62 คน ประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะยาว 2) กลุ่มญาติผู้ดูแล 3) กลุ่มผู้นำชุมชน และ 4) กลุ่มผู้ให้บริการสุขภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล เดือนกันยายน 2564 ถึง มีนาคม 2565 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ paired
t-test และข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการศึกษาสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. ปัญหาการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะยาวในเขตเทศบาลนครแม่สอด ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในมุมมองของผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ ญาติผู้ดูแลขาดความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วย ไม่มั่นใจและไม่รู้ว่าจะดูแลอย่างไร การจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านผู้ป่วยไม่เอื้อต่อการฟื้นฟูสภาพ ท้องถิ่นไม่มีนโยบายในการดูแลผู้ป่วยที่ชัดเจนและขาดความต่อเนื่อง ผู้นำชุมชนขาดการรับรู้ความเข้าใจและความต้องการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ท้องถิ่นและระดับหน่วยบริการไม่มีแผนปฏิบัติการหรือแนวทางในการดูแลผู้ป่วยที่ชัดเจนและขาดความต่อเนื่อง และการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโปรแกรม Thai COC ขาดความต่อเนื่องและไม่เป็นปัจจุบัน

2. การพัฒนารูปแบบการเยี่ยมบ้านเชิงรุกในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในมุมมองของผู้ให้ข้อมูลหลัก พบว่า ผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล ผู้นำชุมชนและสมาชิกชุมชน เกิดความรู้ และทักษะเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง ญาติผู้ดูแลและอสม. เกิดความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และเกิดความร่วมมือกันเพื่อผลักดันนโยบายและแผนกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะยาว และผลักดันให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิง ให้สามารถดำเนินงานตามโครงการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ภายหลังการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พบว่า 1) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีคะแนนความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันร้อยละ 11.8 และผู้ป่วยทุกรายไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยร้อยละ 52.9 ได้รับวัคซีนโควิดตั้งแต่ 1 เข็มขึ้นไป 2) ภายหลังการพัฒนาญาติผู้ดูแลมีคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจภาพรวมด้านการส่งเสริมสุขภาพประชาชนเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นสูงกว่าก่อนการพัฒนารูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Mean =4.21, 3.66, p=0.001)

โดยสรุป รูปแบบการเยี่ยมบ้านเชิงรุกส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดกำลังใจและพยายามลดการพึ่งพาจากญาติผู้ดูแล ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องและตรงกับปัญหาและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน อสม.และญาติมีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วย เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนและผู้นำท้องถิ่น เกิดการผลักดันนโยบายและแผนกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วย และชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

31-08-2023

How to Cite

1.
ทับกล่ำ น. ผลของรูปแบบการเยี่ยมบ้านเชิงรุกในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ยุคโควิด-19 เขตเทศบาลนครแม่สอด. PMJ [อินเทอร์เน็ต]. 31 สิงหาคม 2023 [อ้างถึง 6 เมษายน 2025];3(2):185-97. available at: https://he03.tci-thaijo.org/index.php/PMJ/article/view/3016