การสอบสวนการระบาดของโรคตาแดงจากเชื้อ Coxsackievirus A24 ในผู้เข้าร่วมงานแข่งขันกีฬามวยปล้ำ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ มิถุนายน 2566

ผู้แต่ง

  • อภิชาติ กันธุ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลเพชรบูรณ์
  • ทรรศนะ ธรรมรส กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลเพชรบูรณ์
  • ธนายุทธ สิมคำ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลเพชรบูรณ์
  • สุภาภรณ์ จิมมาลี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
  • สุพัตรา ดอกชะเอม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
  • นรากร ตาทิพย์ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
  • เมษา บุญยง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

คำสำคัญ:

การสอบสวนการระบาด, โรคตาแดง, งานแข่งขันกีฬามวยปล้ำ

บทคัดย่อ

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 งานระบาดวิทยา โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ได้รับแจ้งการระบาดของโรคตาแดงในผู้เข้าแข่งขันกีฬามวยปล้ำที่มาแข่งขันในอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ หน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็วโรงพยาบาลเพชรบูรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคระหว่างวันที่ 25-30 มิถุนายน 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาดของโรค พรรณนาลักษณะทางระบาดวิทยา ระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและให้คำแนะนำในการควบคุมและป้องกันการระบาด การศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนาได้กำหนดนิยามผู้ป่วยสงสัยคือ ผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬามวยปล้ำในอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ และมีอาการอักเสบของเยื่อบุตา ระหว่างวันที่ 17–30 มิถุนายน 2566 นอกจากนี้ยังได้ทำการเก็บตัวอย่าง Conjunctival swab เพื่อตรวจหาเชื้อก่อโรค และตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจหาคลอรีนคงค้าง การศึกษาสิ่งแวดล้อม และการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์แบบ Unmatched Case Control Study โดยใช้การกำหนดนิยามผู้ป่วยเหมือนกับการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยใช้สถิติ logistic regression โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ผลการสอบสวนพบผู้ป่วย 50 คน อัตราส่วนชายต่อหญิง 2.8 : 1 อายุเฉลี่ย 15 ปี และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 4.5  ทั้งหมดเป็นนักเรียน ผู้ป่วยมีอาการแสดงคือ ตาแดง ร้อยละ 100 รองลงมาคือ มีขี้ตา ร้อยละ 68 และ เคืองตาร้อยละ 44 พบผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2566 และพบผู้ป่วยสูงสุดวันที่ 25 มิถุนายน 2566 ผลตรวจ Conjunctival swab เพาะแยกเชื้อพบ Coxsackievirus A24 ผลการตรวจคลอรีนคงค้างในน้ำใช้ คือ 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร จากการวิเคราะห์แบบพหุปัจจัย พบปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคตาแดงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ การฝึกซ้อมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน (Adjusted OR = 8.26, 95% CI: 2.36–29.98, P-value <0.001) และการรับประทานอาหารร่วมกัน (Adjusted OR = 17.14, 95% CI: 2.16–136.05, P-value = 0.01) สรุปได้ว่าการระบาดครั้งนี้เกิดจากเชื้อ Coxsackievirus A24 ซึ่งน่าจะนำเข้ามาจากนอกพื้นที่ ปัจจัยที่สำคัญคือ การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น การฝึกซ้อมและการรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น การคัดกรองผู้ที่มีอาการและแยกผู้ป่วยออกจากกลุ่มคนทั่วไปเป็นวิธีสำคัญในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในอนาคต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

27-12-2024

How to Cite

1.
กันธุ อ, ธรรมรส ท, สิมคำ ธ, จิมมาลี ส, ดอกชะเอม ส, ตาทิพย์ น, บุญยง เ. การสอบสวนการระบาดของโรคตาแดงจากเชื้อ Coxsackievirus A24 ในผู้เข้าร่วมงานแข่งขันกีฬามวยปล้ำ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ มิถุนายน 2566. PMJ [อินเทอร์เน็ต]. 27 ธันวาคม 2024 [อ้างถึง 6 เมษายน 2025];4(3):44-53. available at: https://he03.tci-thaijo.org/index.php/PMJ/article/view/3165