การประเมินการรับสัมผัสสาร Methyl Ethyl Ketone ในปัสสาวะและปัจจัย ที่มีความสัมพันธ์กับสมรรถภาพการมองเห็นของพนักงานฝ่ายผลิต ในโรงงานผลิตรองเท้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

สุทธิพัฒน์ ศิริรัตน์

ผู้แต่ง

  • ohswa -

บทคัดย่อ

          งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการรับสัมผัสสาร Methyl Ethyl Ketone (MEK) และศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับสมรรถภาพการมองเห็นของพนักงานฝ่ายผลิตในโรงงานผลิตรองเท้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จำนวนตัวอย่างทั้งหมดในการศึกษามี 162 คน แบ่งเป็นพนักงานแผนกประกอบ 110 คนและแผนกขัดแต่ง 52 คน เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างโดยใช้การตอบแบบสอบถามการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของ MEK ในปัสสาวะหลังเลิกงาน และการวัดสมรรถภาพการมองเห็น (ตาบอดสีและลานสายตา) จากการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่เป็นพนักงานหญิง ร้อยละ 95.1 อายุเฉลี่ย 30.7 ปี ร้อยละ 96.9 ทำงานในตำแหน่งปัจจุบันมาน้อยกว่า 7 ปี ร้อยละ 91.4กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจ มีระดับความเข้มข้นของ MEK ในปัสสาวะหลังเลิกงาน เฉลี่ย 0.43 ± 0.24 mg/L สำหรับสมรรถภาพการมองเห็น พบว่าอาการเกี่ยวกับสายตาที่เป็นตลอดเวลา ได้แก่ อาการแสบตา/เจ็บตา ตาอักเสบ/แดงบวม มองเห็นภาพซ้อนและเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการตาบอดสีร้อยละ 72.2 และไม่มีความผิดปกติของลานสายตาร้อยละ 98.8 เมื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆกับสมรรถภาพการมองเห็น พบว่าอายุกับอาการเกี่ยวกับสายตามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p = 0.034) และสถานภาพกับอาการเกี่ยวกับสายตามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p = 0.041) แต่สำหรับปัจจัยด้านอื่นๆกับสมรรถภาพการมองเห็น พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันแต่อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้ประกอบในการพิจารณาการให้ความดูแลสุขภาพสายตาในพนักงานบางกลุ่มเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดการเจ็บป่วย

คำสำคัญ : การรับสัมผัสสาร MEK / สมรรถภาพการมองเห็น / กรุงเทพมหานคร

เผยแพร่แล้ว

2022-06-10