ผลกระทบต่อสุขภาพของฟอร์มาลดีไฮด์ และฝุ่นฝ้าย: การศึกษาภาคตัดขวางในพนักงานตัดเย็บเสื้อผ้า

กาญจน์ ทัตตานนท์

ผู้แต่ง

  • ohswa -

บทคัดย่อ

          การศึกษานี้เป็นการศึกษาภาคตัดขวางในโรงงานผลิตเครื่องแต่งกายแห่งหนึ่ง เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) และฝุ่นฝ้าย (Cotton Dust) ในกลุ่มพนักงานจำนวน 308 คน มีลักษณะงานแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ ตัด เย็บ ปัก และคลังเก็บผ้า โดยการเก็บตัวอย่างอากาศแบบบุคคลเพื่อวิเคราะห์หาฟอร์มาลดีไฮด์และแบบพื้นที่เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณฝุ่นฝ้ายในอากาศด้วย Vertical Elutriator รวมทั้งตรวจวัดสมรรถภาพการทำงานของปอด โดยดูจากค่า FVC และFEV1และสัมภาษณ์พนักงานที่เข้าร่วมโครงการทุกคนเพื่อรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล พฤติกรรมสุขภาพประวัติการทำงาน และสถานะทางสุขภาพ โดยเฉพาะอาการด้านระบบทางเดินหายใจ และการระคายเคือง ข้อมูลทั้งหมดถูกวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ทางสถิติระหว่างฟอร์มาลดีไฮด์ และฝุ่นฝ้ายกับสมรรถภาพปอดและอาการที่อาจเนื่องมาจากการรับสัมผัสสารทั้งสอง ด้วย Multiple Regression ผลการศึกษาพบว่าความเข้มข้นเฉลี่ยของฟอร์มาลดีไฮด์จากตัวอย่างอากาศทั้งหมด 45 ตัวอย่าง มีค่าต่ำกว่าที่เสนอแนะโดย National Institute for Occupational Safety and Health (0.016 ppm) และค่าความเข้มข้นของฝุ่นฝ้ายทั้งหมดต่ำกว่าค่าที่กำหนดโดย Occupational Safety and Health (0.2 mg/m3) และผลการทดสอบสมรรถภาพของปอด พบว่า 2.5% ของพนักงานทั้งหมดมีสมรรถภาพปอดผิดปกติ และจากการสัมภาษณ์พบว่า มีพนักงาน 7 คนจากผู้เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพปอด 287 คน ที่มีผลการทดสอบสมรรถภาพปอดที่ผิดปกติ แต่เนื่องจากพนักงานที่มีความผิดปกติของสมรรถภาพปอดมีจำนวนที่น้อยมาก ปัญหาที่พบจึงอาจไม่ได้มาจากสภาพแวดล้อมภายในโรงงาน แต่มาจากการที่พนักงานมีอายุมาก และมีประสบการณ์การทำงานมานาน จึงอาจเป็นโรคที่พนักงานเคยเป็นมาก่อนซึ่งหายแล้วในปัจจุบัน แต่ความรุนแรงของโรคทำให้เกิดความผิดปกติของปอดอย่างถาวรอย่างไรก็ตาม ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของฟอร์มาลดีไฮด์และฝุ่นฝ้ายกับค่า FVC หรือ FEV1

คำสำคัญ : ฟอร์มาลดีไฮด์ ฝุ่นฝ้าย การประเมินการรับสัมผัส การทดสอบสมรรถภาพปอด และพนักงานผลิตเครื่องแต่งกาย

เผยแพร่แล้ว

2022-06-14