แนวทางการพัฒนาบุคลากรสำหรับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศ กรณีศึกษาอุโมงค์ไฟฟ้าแรงดันสูง ของท่าอากาศยานนานาชาติแห่งหนึ่ง

รจน์ เจริญสุข

ผู้แต่ง

  • ohswa -

บทคัดย่อ

          การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจแบบภาพตัดขวางโดยการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างข้อกำหนดตามกฎหมาย และโครงสร้างการบริหารจัดการภายในองค์กร และการวิเคราะห์สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่อุโมงค์ไฟฟ้าแรงดันสูง ของท่าอากาศยานนานาชาติแห่งหนึ่ง เพื่อพัฒนาแนวทางในการพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ซึ่งประกอบด้วยผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ และผู้ปฏิบัติงานและทำการทดสอบโดยนำแนวทางที่พัฒนาขึ้น มาใช้ในการปฏิบัติงานจริงกับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการทำงานในที่อับอากาศตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำนวน 27 คน ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสมกับการทำงานในที่อับอากาศ คือ ตำแหน่งตามสายงานบังคับบัญชา และสมรรถนะเฉพาะตำแหน่งของผู้ปฏิบัติงานจึงได้มีการพัฒนาขั้นตอนการคัดเลือกผู้ปฏิบัติงาน และขั้นตอนการทดสอบความรู้เฉพาะบทบาทขึ้น ก่อนเริ่มขั้นตอนการขออนุญาตเข้าทำงานในที่อับอากาศผลการใช้งานขั้นตอนที่กำหนดขึ้น พบว่าหลังกลุ่มตัวอย่างผ่านเกณฑ์การคัดเลือก และทำการทดสอบความรู้เฉพาะบทบาทด้วยแบบทดสอบที่พัฒนาขึ้นมีกลุ่มตัวอย่างสอบไม่ผ่านเกณฑ์ ถึงร้อยละ 55.6 โดยในกลุ่มนี้จะต้องเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมเฉพาะหัวข้อซึ่งพบว่าภายหลังการอบรมกลุ่มตัวอย่างสามารถทำแบบทดสอบผ่านเกณฑ์ทั้งหมด สำหรับผลการประเมินการทำงานด้านความปลอดภัย พบว่าการปฏิบัติงานในที่อับอากาศเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ การประเมินความพึงพอใจต่อแนวทางและขั้นตอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า อยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี

คำสำคัญ : ที่อับอากาศ / ขั้นตอนการปฏิบัติงาน / อุโมงค์ไฟฟ้าแรงดันสูง

เผยแพร่แล้ว

2022-06-14