ความเครียดและความชุกของการปวดคอ ไหล่ หลัง จากการทำงาน ในเจ้าหน้าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดมหาสารคาม

สุขสรร ศิริสุริยะสุนทร

ผู้แต่ง

  • ohswa -

บทคัดย่อ

          ความเครียดจากการทำงานและการปวดคอ ไหล่ หลัง เป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานเพิ่มมากขึ้น การศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียดจากการทำงาน ความชุกของการปวดคอ ไหล่ หลัง และความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับการปวดคอ ไหล่ หลังของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กลุ่มตัวอย่างคือ เจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจังหวัดมหาสารคามจำนวน 244 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ประกอบด้วยข้อมูลความเครียดจากการทำงานและอาการปวดคอ ไหล่ หลัง ซึ่งคำนวณค่าอัตราความชุกของการปวดโดยคำนึงถึงความถี่และความรุนแรง ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาผลการศึกษาพบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 75.41 กลุ่มอายุ 31 – 40 ปีมีร้อยละ 48.36 ประสบการณ์ในการทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์ระหว่าง 6 – 10 ปีมีร้อยละ 50.00 เจ้าหน้าที่มีความเครียดจากการทำงานร้อยละ 35.25 โดยพบว่ามีความรู้สึกไม่สบายระดับปานกลาง (เริ่มที่จะมีสัญญาณเตือน) ร้อยละ 30.74 ความชุกการปวดคอ ไหล่ หลัง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่คำนึงถึงความรุนแรงระดับมากขึ้นไปร่วมกับความถี่ระดับบ่อยครั้งขึ้นไปเท่ากับร้อยละ 35.66 ตำแหน่งที่พบความชุกสูงสุดคือไหล่ (ร้อยละ 24.18) โดยพบว่าความเครียดจากการทำงานมีความสัมพันธ์กับการ ปวด คอ ไหล่หลัง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (OR= 3.03, 95%CI=1.68-5.46) สรุปผลการศึกษานี้พบทั้งปัญหาความเครียดจากการทำงานและการปวด คอ ไหล่ หลัง ในเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโดยความเครียดจากการทำงานมีความสัมพันธ์กับการปวดคอไหล่หลังดังนั้นควรมีการส่งเสริมกิจกรรมคลายเครียดในองค์กร และควรศึกษาต่อไปด้านปัจจัยทางการยศาสตร์การทำงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต่อไป

คำสำคัญ : ความเครียดจากการทำงาน / การปวดคอ ไหล่ หลัง / ผู้ใช้คอมพิวเตอร์

เผยแพร่แล้ว

2022-06-14