ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดคอ ไหล่ หลัง ของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดหนองคาย

สุขวรรณ ชุติวัตรพงศธร

ผู้แต่ง

  • ohswa -

บทคัดย่อ

          ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มีรายงานอาการผิดปกติทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยในบริเวณคอ ไหล่ และหลังแต่ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนในเจ้าหน้าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาความชุกของการปวดคอ ไหล่ หลังและปัจจัยที่สัมพันธ์กับการปวดคอ ไหล่ หลัง ของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดหนองคาย โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 145 คน จากการสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและระบุปัจจัยเสี่ยงด้วยสถิติวิเคราะห์ตัวแปรเชิงพหุแบบถดถอย (Multiple logistic regression analysis) ที่ช่วงความเชื่อมั่น (95%CI)และระดับนัยสำคัญที่ p-value < 0.05 ผลการศึกษาพบว่าความชุกของการปวดคอ ไหล่ หลังที่ระดับความรุนแรงมากขึ้นไป เท่ากับร้อยละ 33.1 (95%CI = 25.35-40.85) และพบปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการปวดคอ ไหล่ หลัง คือ มีความเครียดสูงจากการทำงาน (ORadj = 7.05, 95% CI =2.64-18.86) จำนวนชั่วโมงรวมทั้งหมดต่อวันในการทำงานคอมพิวเตอร์มากกว่า 8 ชั่วโมง (ORadj = 5.30, 95% CI = 2.13-13.17) และมีลักษณะท่าทางการก้มคอขณะทำงานคอมพิวเตอร์ (ORadj = 2.80, 95% CI = 1.12-6.98) เมื่อเทียบกับการไม่สัมผัสปัจจัยดังกล่าว สรุปผลการศึกษานี้คือเจ้าหน้าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีปัญหาการปวดคอ ไหล่ หลัง ในระดับรุนแรงที่ควรได้รับโปรแกรมเฝ้าระวังโรคและจัดกิจกรรมลดปัจจัยเสี่ยงด้านความเครียดจากการทำงาน เช่นการลดชั่วโมงการทำงานกับคอมพิวเตอร์ และให้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสถานีงาน รวมทั้งการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ด้านหลักการยศาสตร์ในงานคอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันปัญหาโรคเรื้อรังจากการปวดคอ ไหล่ หลังในพนักงานกลุ่มนี้ต่อไป

คำสำคัญ : ความชุก / การปวดคอ ไหล่ หลัง / ปัจจัยเสี่ยง / เจ้าหน้าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์

เผยแพร่แล้ว

2022-06-14