การรับสัมผัสสารเบนซีน โทลูอีนและไซลีน และความเสี่ยงต่อสุขภาพของ พนักงานสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง–การทบทวนงานวิจัย อย่างเป็นระบบ

สุนิสา ชายเกลี้ยง

ผู้แต่ง

  • ohswa -

บทคัดย่อ

          เบนซีน โทลูอีนและไซลีน (BTX) เป็นสารอินทรีย์ระเหยง่ายในกลุ่มของสารไฮโดรคาร์บอน ที่พบในบรรยากาศสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งพนักงานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสสารโดยเฉพาะสารเบนซีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง หลังปี พ.ศ.2555 ประเทศไทยกำหนดให้มีปริมาณสารเบนซีนในน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงจากไม่เกินร้อยละ 3.5 เหลือไม่เกินร้อยละ 1.0 โดยปริมาตร การทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่าความเข้มข้นของสารเบนซีนในบรรยากาศการทำงาน การสัมผัสสารของพนักงานโดยใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพและความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของพนักงานสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มเป็นอย่างไรโดยใช้การสืบค้นรายงานการวิจัยที่เผยแพร่ระหว่างปี พ.ศ.2547- 2559 ทั้งด้วยมือจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่นและด้วยคอมพิวเตอร์ โดยสืบค้นจากฐานข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยและจากอินเตอร์เน็ตซึ่งแหล่งสืบค้นข้อมูลวิจัยคือ PubMed, Science direct, Cochrane library และ Google scholar ผลการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบครั้งนี้พบว่า เข้มข้นสารเบนซีนโทลูอีนและไซลีนในบรรยากาศสถานีบริการน้ำมันที่ผ่านมามีค่าความเข้มข้นอยู่ในช่วง 0.010 – 0.700, 0.002 – 0.500 และ 0.0007 – 0.100 ppm ตามลำดับซึ่งค่าสูงสุดไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดโดยกฎหมายไทยแต่สารเบนซีนยังพบว่าสูงกว่าค่าที่ยอมรับให้สัมผัสได้ตามมาตรฐาน ACGIH (OEL=0.100 ppm) ตัวชี้วัดทางชีวภาพที่พบในงานวิจัยส่วนใหญ่จะศึกษาระดับกรดมิวโคนิคในปัสสาวะ (t, t-Muconic Acid) เพื่อดูการได้รับสัมผัสสารเบนซีน ซึ่งหลายงานวิจัยมีการรายงานผลขัดแย้งกันด้านระดับการสัมผัสเมื่อเทียบกับค่าแนะนำที่ไม่เกิน 500 μg/g Creatinine โดยพบปัจจัยที่มีผลต่อระดับ t,t-Muconic Acid คืออายุการทำงานของพนักงาน พฤติกรรมของพนักงานการรับประทานอาหารขณะปฏิบัติงานการสูบบุหรี่การดื่มแอลกอฮอล์ และสถานที่ตั้งของสถานีด้านความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากสารเบนซีนพบว่าทั้งงานวิจัยที่ศึกษาในไทยและในต่างประเทศระบุความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากสารเบนซีนของพนักงานมีค่าเกินเกณฑ์ที่ยอมรับได้ คือมากกว่า 1x10-6 จากผลการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบครั้งนี้สรุปความเข้มข้นสารเบนซีนในบรรยากาศสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังไม่เกินค่ามาตรฐานกฎหมายไทยแต่ค่าสูงกว่าค่าขีดยอมรับให้สัมผัสได้ตามมาตรฐาน ACGIH เนื่องจากช่วงความเข้มข้นที่พบนั้นแตกต่างกันตามปัจจัย เช่น เวลา สถานที่ ฤดูกาล และผลจากการลดปริมาณสารเบนซีนในน้ำมันเบนซินและที่ระดับความเข้มข้นดังกล่าวยังส่งผลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้เมื่อสัมผัสระยะเวลายาวและไม่มีการป้องกัน จึงเสนอแนะให้มีการเฝ้าระวังและป้องกันการสัมผัสสารเบนซีนในพนักงานสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเจ้าของกิจการหรือผู้ส่งมอบน้ำมันร่วมหามาตรการในการป้องกันการสัมผัส เช่น จัดระยะเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพและการตรวจสุขภาพพนักงาน การตรวจวัดความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายในบรรยากาศอย่างต่อเนื่องและการส่งเสริมพฤติกรรมด้านความปลอดภัยของพนักงานเพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับสัมผัส

คำสำคัญ : ความเข้มข้นในบรรยากาศ / เบนซีน / โทลูอีน / ตัวชี้วัดทางชีวภาพ / ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

เผยแพร่แล้ว

2022-06-14