การประเมินความเสี่ยงต่อการปวดหลังส่วนล่างจากการทำงานของ พนักงานยกเคลื่อนย้ายวัสดุ

สุนิสา ชายเกลี้ยง

ผู้แต่ง

  • ohswa -

บทคัดย่อ

          การใช้ท่าทางในการทำงานที่ขัดต่อหลักการยศาสตร์และการออกแรงยกของเกินกำลัง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อโรคปวดหลังส่วนล่างในกลุ่มพนักงานที่ต้องออกแรงในการยกหรือเคลื่อนย้ายวัสดุได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการปวดหลังส่วนล่างในพนักงานที่ออกแรงกายเคลื่อนย้ายวัสดุ เก็บข้อมูลในพนักงานที่มีการออกแรงกายในงานยกของ (n=70) โดยใช้แบบสัมภาษณ์ แบบประเมินท่าทางการทำงานด้วยเทคนิค Rapid Entire Body Assessment (REBA) และ NIOSH lifting index และประเมินความเสี่ยงต่อการปวดหลังส่วนล่างโดยใช้เมตริกความเสี่ยงต่อสุขภาพ ผลการศึกษาพบว่าพนักงานมีความเสี่ยงต่อการปวดหลังส่วนล่างจากการสัมผัสปัจจัยทางการยศาสตร์ประเมินโดย REBA อยู่ในระดับเสี่ยงปานกลางและระดับสูงเท่ากันคือร้อยละ 42.9 และระดับเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้พบร้อยละ 10.0 เมตริกความเสี่ยงต่อการปวดหลังส่วนล่างประเมินจาก NIOSH Lifting index แสดงว่าพนักงานมีความเสี่ยงต่อการปวดหลังส่วนล่างในระดับปานกลางถึงระดับยอมรับไม่ได้รวมร้อยละ 57.1 ของพนักงานทั้งหมด สรุปได้ว่า พนักงานที่ออกแรงยกเคลื่อนย้ายส่วนใหญ่นี้มีความเสี่ยงต่อการปวดหลังส่วนล่างในระดับที่ต้องติดตามตรวจสอบ ควบคุมและป้องกัน โดยความเสี่ยงนี้ไม่ได้เกิดจากการยกของหนักอย่างเดียว แต่มีปัจจัยร่วมด้านท่าทางการทำงานซ้ำๆ ที่ผิดหลักการยศาสตร์ จึงเสนอแนะให้สถานประกอบการมีการปรับปรุงระบบงาน จัดอุปกรณ์ช่วยยกเคลื่อนย้ายวัสดุ และอบรมด้านการยศาสตร์แก่พนักงานเพื่อปรับปรุงท่าทางการทำงานที่เสี่ยงและเมตริกความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ได้นี้สามารถนำไปใช้ในการเฝ้าระวังโรคปวดหลังจากการทำงานของพนักงานในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีลักษณะงานนี้ได้ต่อไป

คำสำคัญ : การยศาสตร์ / เมตริกความเสี่ยงต่อสุขภาพ / NIOSH lifting / REBA

เผยแพร่แล้ว

2022-06-14