การวิเคราะห์องค์ประกอบของของเหลวที่ได้จาก การไพโรไลซิสถุงมือยาง

ณัฐกานต์ หลวงอภัย

ผู้แต่ง

  • ohswa -

บทคัดย่อ

          ถุงมือยางเป็นขยะติดเชื้อที่ต้องกำจัดโดยวิธีการเผา ผู้วิจัยจึงเห็นว่าหากสามารถเปลี่ยนการเผาที่ใช้อยู่แล้วเป็นการเผาแบบไพโรไลซิสแทนจะเป็นประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากการเผาแบบไพโรไลซิสทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันหรือสารเคมีที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิต งานวิจัยนี้ ศึกษากระบวนการไพโรไลซิสถุงมือยางที่อุณหภูมิ 380, 420, 460 และ500 องศาเซลเซียส โดยมีอัตราการเพิ่มความร้อน 10 องศาเซลเซียสต่อนาที พบว่าอุณหภูมิที่เหมาะแก่การไพโรไลซิสถุงมือยางคือ 500 องศาเซลเซียส เนื่องจากที่อุณหภูมิ 380 องศาเซลเซียส ได้ผลิตภัณฑ์ของเหลว ร้อยละ 7.42 เมื่อเพิ่มอุณหภูมิเป็น 500 องศาเซลเซียส ของเหลวเพิ่มสูงถึงร้อยละ 31.57 เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น ของเหลวที่ได้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนก๊าซ และของแข็งจะมีปริมาณลดลง เมื่อนำผลิตภัณฑ์ของเหลวที่ได้ไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องแก๊สโครมาโทรกราฟี-แมสสเปคโทรมิทรี พบว่าสารที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นสารกลุ่มอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน เช่นสารประกอบเบนซีน และสารประกอบแนฟทาลีน สารหลักๆ ที่ได้ คือ พารา-ไซลีน, โทลูอีน, 1,2,3-ไตรเมทิลเบนซีน ซึ่งสารเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามของเหลวที่ได้จากการไพโรไลซิสยังไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้กับเครื่องยนต์เพราะสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ได้มีความซับซ้อนและเป็นสารกลุ่มอะโรมาติก นอกจากนี้ ของเหลวที่ได้ยังประกอบด้วยสารเคมีที่ความไวต่อปฏิกิริยาสูง เช่นกรด ดังนั้นการนำของเหลวไปกลั่นหรือเติมสารเติมแต่งจึงมีความจำเป็น หรืออาจมีการเติมตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการไพโรไลซิส เพื่อให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพ

คำสำคัญ : ไพโรไลซิส / ถุงมือยาง / อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน

เผยแพร่แล้ว

2022-06-14