ความรู้สึกไม่สบายบริเวณไหล่ และความเสี่ยงทางการยศาสตร์ต่อความผิดปกติของรยางค์ส่วนบน ในพนักงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
อาริยา ปานนาค
บทคัดย่อ
พนักงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยทั่วไปมีท่าทางการปฏิบัติงานในท่าเดิมซ้ำๆ นานๆ และใช้อวัยวะรยางค์ส่วนบนซ้ำๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการปวดไหล่ได้ การศึกษาเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้สึกไม่สบายบริเวณไหล่ และประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ต่อความผิดปกติของรยางค์ส่วนบนเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์เพื่อประเมินความรู้สึกไม่สบาย (CMDQ) และแบบประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ต่อความผิดปกติของรยางค์ส่วนบน (RULA) ในกลุ่มพนักงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 162 คนผลการศึกษาพบว่าพนักงานมีสัดส่วนการรับรู้การปวดไหล่ในระดับรุนแรงสูงสุดคือ ปวดมาก ร้อยละ 12.4 ปวดระดับปานกลางร้อยละ 35.8 ความถี่สูงสุดของการปวดคือปวดหลายครั้งในทุกๆ วัน และปวด 1 ครั้งในทุกๆวันเท่ากันคือ ร้อยละ 9.3 ผลการประเมินระดับความรู้สึกไม่สบายบริเวณไหล่ พบในระดับมากร้อยละ 8.6 ระดับปานกลาง 24.7 และผลการประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ตามแบบประเมิน RULA พนักงานมีความเสี่ยงระดับ 4 (งานนั้นเสี่ยงสูงมาก เป็นปัญหาที่ควรรีบทำการปรับปรุงทันที) ร้อยละ 20.4 โดยเฉพาะลักษณะงานเปลี่ยนหรือป้อนวัตถุดิบที่มีน้ำหนักแก่เครื่องจักร จากผลการศึกษาที่พบว่าระดับความรู้สึกไม่สบายบริเวณไหล่และระดับความเสี่ยงทางการยศาสตร์อยู่ในระดับสูงมากในพนักงานบางส่วนของการผลิตนี้ หากขาดการปรับปรุงหรือป้องกันต่อไป อาจมีโอกาสเกิดโรคข้อไหล่หรือความผิดปกติของรยางค์ส่วนบนจากการทำงานในพนักงานกลุ่มได้จึงเสนอแนะให้รีบแก้ไขตามหลักการยศาสตร์
คำสำคัญ : RULA / การปวดไหล่ / CMDQ/ ความเสี่ยง / การยศาสตร์
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2022 วารสารความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.