การประเมินท่าทางการทำงานและอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและ กระดูกโครงร่างของเจ้าหน้าที่พลเปล

นิภาพร คำหลอม*, ภัทรนนท์ เทวะประกาย

ผู้แต่ง

  • ohswa -

บทคัดย่อ

          ท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่าง ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของพนักงานที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ (Survey Research) แบบภาคตัดขวาง (Cross-Sectional Study) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินท่าทางการทำงานโดยวิธี Rapid Entire Body Assessment (REBA) และสำรวจอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างจากการทำงานของเจ้าหน้าที่พลเปล ในโรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่าง คือ เจ้าหน้าที่พลเปล จำนวน 21 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบประเมิน Rapid Entire Body Assessment (REBA) และการสัมภาษณ์อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างจากการทำงาน ผลการวิจัย พบว่า เจ้าหน้าที่พลเปลทุกคนเป็นเพศชายมีอายุเฉลี่ย 21.76±0.83 ปี ส่วนใหญ่สูบบุหรี่และออกกำลังกายเป็นบางครั้ง คิดเป็นร้อยละ 57.10 ตามลำดับ ผลการประเมินท่าทางการทำงาน โดยวิธี Rapid Entire Body Assessment (REBA) พบว่า ในการประเมินความเสี่ยงในการเข็นเตียงแบบนอน ส่วนของร่างกายข้างขวามีความเสี่ยงต่อการปวดเมื่อยมากกว่าด้านซ้าย โดยที่ท่าทางการทำงานในส่วนของร่างกายข้างขวาและข้างซ้ายส่วนใหญ่จะมีคะแนนเท่ากับ 7 คิดเป็นร้อยละ 61.90 และ 57.10 ตามลำดับ และในการประเมินความเสี่ยงในการเข็นเตียงแบบนั่ง พบว่า ท่าทางการทำงานในส่วนของร่างกายข้างขวาและข้างซ้ายส่วนใหญ่จะมีคะแนนเท่ากับ 7 คิดเป็นร้อยละ 80.90 และ 76.20 ตามลำดับ ในส่วนของอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูก พบว่าเจ้าหน้าที่พลเปลมีอาการปวดเมื่อยในส่วนของร่างกายข้างขวามากกว่าข้างซ้าย และตำแหน่งของร่างกายที่มีระดับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่างมากที่สุด คือ สะโพก/ต้นขาทั้งซ้ายและขวา และน่องข้างซ้าย ซึ่งมีค่าเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 47.60 รองลงมาคือ น่องข้างขวา คิดเป็นร้อยละ 42.90 และหัวเข่าข้างซ้าย คิดเป็นร้อยละ 38.10 ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยครั้งนี้คือ ควรมีการปรับปรุงสถานีงาน เพื่อหลีกเลี่ยงท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม รถเข็นสามารถปรับให้สูงหรือต่ำตามระดับความสูงของเจ้าหน้าพลเปล และในขณะที่ทำการเข็นผู้ป่วยต้องใช้ท่าทางที่เป็นธรรมชาติ คือ หลังตรง ไม่บิดเอวหรือโก้งโค้ง และควรมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดการสูบบุหรี่ มีการตรวจสุขภาพ และเฝ้าระวังอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงานของเจ้าหน้าที่พลเปล

คำสำคัญ : การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่าง / เจ้าหน้าที่พลเปล / การประเมิน Rapid Entire Body Assessment (REBA)

เผยแพร่แล้ว

2022-06-14