จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมในการตีพิมพ์ (Publication Ethics)

 วารสารการพยาบาล สุขภาพและสาธารณสุข โดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพุทธชินราช คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทความวิชาการ และบทความวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพยาบาล การสาธารณสุข การศึกษา และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพของบุคลากรทางการพยาบาลและการสาธารณสุข เพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์ โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้

บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ 

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งเพื่อเข้ารับพิจารณาตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความ โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร
  2. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด
  3. บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความทุกครั้งโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้แต่งในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้แต่ง
  4. บรรณาธิการต้องคัดเลือกบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว
  5. บรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิและไม่ปกปิดข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แต่ง
  6. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้แต่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เกี่ยวข้อง และไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง 

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์ 

  1. ผลงานที่ส่งเพื่อตีพิมพ์ของผู้แต่งต้องไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างการเสนอ เพื่อพิจารณาเผยแพร่ในวารสารฉบับอื่น
  2. ผู้แต่งต้องไม่คัดลอกผลงานผู้อื่น และมีการอ้างอิงที่ถูกต้องตามรูปแบบของวารสารกำหนดทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมาอ้างอิงในเนื้อหาบทความของตนเอง
  3. ผู้แต่งต้องรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย โดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
  4. ผู้แต่งต้องเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนด
  5. หากเป็นผลงานวิจัย ต้องผ่านการขอจริยธรรมการวิจัยตามหลักการที่ถูกต้อง
  6. ผู้แต่งต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยและระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  2. ผู้ประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก พิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว
  3. ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
  4. ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญด้านเนื้อหาในบทความ คุณภาพของการวิเคราะห์ข้อมูล และความเข้มข้นของผลงาน
  5. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกำหนดการที่กองบรรณาธิการแจ้ง