พฤติกรรมการออกกำลังกายของประชาชนในเขตสุขภาพที่ 10

ผู้แต่ง

  • อนุสรณ์ ส่องแสง
  • วราภรณ์ จันทร์พราว
  • ดิศพล บุปผาชาติ
  • เด่นดวงดี ศรีสุระ

คำสำคัญ:

การออกกำลังกาย, พฤติกรรมสุขภาพ, ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี

บทคัดย่อ

          การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวทางกายในชีวิตประจำวันของประชาชนที่ไม่เพียงพอก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ ถึงแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีนโยบายและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนมีการออกกำลังกายและกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและค้นหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการออกกำลังกายของประชาชนในเขตสุขภาพที่ 10 มาใช้เป็นข้อมูลวางแผนส่งเสริมการออกกำลังกายของประชาชนให้เหมาะสมไป กลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนอายุ 15 – 59 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน คำนวณขนาดตัวอย่างตามสูตรของยามาเน่ได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างอย่างน้อย 400 คน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามเรื่อง พฤติกรรมการออกกำลังกายของประชาชนในเขตสุขภาพที่ 10 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงวิเคราะห์ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆกับพฤติกรรมการออกกำลังกายด้วยสถิติ Chi-square Test และ Fisher's Exact Test ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ทั้งนี้ผู้วิจัยได้คำนึงถึงหลักปฏิบัติบนพื้นฐานของจริยธรรมในการวิจัยในทุกขั้นตอน

          ผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกายอยู่ในระดับดีมากที่สุดร้อยละ 95.00 มีทัศนคติต่อการออกกำลังกายอยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 56.00 มีปัจจัยสนับสนุนต่อการออกกำลังกายอยู่ในระดับน้อย มากที่สุดร้อยละ 50.00 มีพฤติกรรมการออกกำลังกายอยู่ในระดับปานกลาง มากที่สุดร้อยละ 44.00 ด้านปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการออกกำลังกาย พบว่ามีเพียงการทำงาน/ประกอบอาชีพ/เรียน วันอาทิตย์ และปัจจัยสนับสนุนต่อการออกกำลังกายที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการออกกำลังกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระดับ p-value 0.013,  <0.001 ตามลำดับ

          ผลการศึกษาว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นั้นมีความรู้ในเรื่องการออกกำลังกายและมีทัศนคติต่อการออกกำลังกายอยู่ในระดับดี อันจะส่งผลให้ร่างกายมีการปรับสภาพสู่ความสมบูรณ์แข็งแรง สามารถป้องกันหรือบรรเทาการเกิดโรคจากทางพฤติกรรมเนือยนิ่งได้ เป็นการให้ผลที่ดีต่อการดูแลสุขภาพร่างกายแต่ยังต้องการให้ภาครัฐอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการออกกำลังกายในชุมชนยังไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่การออกกำลังกายที่เป็นประจำสม่ำเสมอเพื่อเป็นการผ่อนคลายร่างกายจากการทำงาน การเรียนและเป็นการส่งเสริมสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งพบว่าปัจจัยสนับสนุนต่อการออกกำลังกายนั้นมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการออกกำลังกายของกลุ่มตัวอย่าง

          ข้อเสนอแนะ ควรส่งเสริมสุขภาพความรอบรู้ด้านการออกกำลังกายสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพผ่านสื่อที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายร่วมกับการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการออกกำลังกายของประชาชนตามบริบทของพื้นที่เหมาะสม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

27-06-2022