ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารและ การออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
คำสำคัญ:
พฤติกรรมการบริโภคอาหาร, พฤติกรรมการออกกำลังกาย, ภาวะไขมันในเลือดสูงบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการรับรู้ประโยชน์ และการรับรู้อุปสรรค ต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ที่มารับบริการตรวจสุขภาพประจำปีที่ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี และมีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ อายุ 20 -59 ปี จำนวน 223 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามชุดเดียว แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน หาค่าความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาครอนบาคของแบบสอบถามส่วนที่ 2 - 4 เท่ากับ 0.73, 0.98, 0.85 และ 0.95 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปใช้สถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ โดยใช้สถิติวิเคราะห์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการศึกษา พบว่า พฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพของวัยทำงานที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงอยู่ระดับปานกลาง ( x̄ = 3.3, S.D. = 1.1) การรับรู้ประโยชน์ และการรับรู้อุปสรรค มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง โดยการรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงในผู้รับบริการตรวจสุขภาพประจำปีที่ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี มีความสัมพันธ์ต่อต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .479, p < .01) เนื่องจากผู้รับบริการส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ อายุ 51-59 ปี (ร้อยละ 46.6) และได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าปริญญาตรี (ร้อยละ 47.1) ส่วนการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ มีความสัมพันธ์ทางลบต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ในผู้รับบริการตรวจสุขภาพประจำปีที่ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี (r = - .320, p < .01)
ผลการวิจัยสามารถนำไปเป็นองค์ความรู้ในการออกแบบโปรแกรมสร้างเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงต่อไป