ผลของการให้ความรู้เรื่องพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ของผู้รับบริการคลินิกบริการอนามัยแม่และเด็กศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี

ผู้แต่ง

  • เกษแก้ว เกตุพันธ์

คำสำคัญ:

พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้น (Pre experiment Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความรู้ก่อนและหลังการให้ความรู้เรื่องพรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 และศึกษาความพึงพอใจต่อการให้ความรู้ของผู้รับบริการคลินิกบริการอนามัยแม่และเด็ก ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม 1 ชุด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป  ส่วนที่ 2 แบบวัดความรู้เรื่อง พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560  ส่วนที่ 3 ความพึงพอใจของผู้รับบริการคลินิกบริการอนามัยแม่และเด็ก เครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัย ได้แก่ วิดิโอ สื่อนำเสนอ และคู่มือพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistic ) ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมาน (Inferential statistic ) ได้แก่ Paired t-test  ผลการศึกษา พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยของความรู้ก่อนให้ความรู้ เท่ากับ 6.60 และหลังให้ความรู้ เท่ากับ 11.46 เมื่อทดสอบความแตกต่างทางสถิติ พบว่า คะแนนเฉลี่ยของความรู้หลังให้ความรู้ สูงกว่าก่อนได้รับความรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  

          ผลการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าการให้ความรู้แก่ผู้รับบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของบริษัทนม ให้มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถเฝ้าระวังการละเมิดพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ได้ เป็นกิจกรรมสำคัญที่สถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังโดยกระบวนการให้ความรู้ต้องประกอบด้วยการบรรยาย สาธิต และฝึกปฏิบัติผ่านกรณีตัวอย่างหรือกรณีศึกษา สื่อการสอน มีความชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

28-06-2021