ผลของโปรแกรมการจัดการขยะมูลฝอยตามหลัก 3Rs ต่อความรู้การจัดการขยะมูลฝอยของประชาชนเทศบาลตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
คำสำคัญ:
โปรแกรมการจัดการขยะมูลฝอยตามหลัก 3Rs, ความรู้การจัดการขยะมูลฝอยบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้นครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชน เทศบาลตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรม การจัดการขยะมูลฝอยตามหลัก3Rs ซึ่งโปรแกรมฯ เป็นกิจกรรมการให้ความรู้ โดยใช้การอบรม เปิดวีดิทัศน์และซักถามแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยในเรื่อง ลดการเกิดขยะมูลฝอย การนำขยะมูลฝอยมาใช้ซ้ำ และการนำขยะมูลฝอยมารีไซเคิล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 24 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) ซึ่งคำนวณกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตร two dependent means ของ App N4Studies เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไปและแบบทดสอบความรู้ในการจัดการขยะมูลฝอย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา และทดสอบความเชื่อมั่นโดยวิธีอัลฟาของครอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.73 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถาม ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 26 กุมภาพันธ์ 2564 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมาน ได้แก่ Paired t-test กำหนดระดับนัยสำคัญที่ 0.05
ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยของความรู้ก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมการจัดการขยะมูลฝอยตามหลัก 3Rs เท่ากับ 11.71 (S.D.=3.22) และหลังการให้ความรู้เท่ากับ 15.50 (S.D.=3.83) เมื่อทดสอบความแตกต่างทางสถิติพบว่าคะแนนเฉลี่ยความรู้หลังการเข้าร่วมโปรแกรมการจัดการขยะมูลฝอยตามหลัก 3Rs เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p<.05)
ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าหลังการเข้าร่วมโปรแกรมการจัดการขยะมูลฝอยตามหลัก 3Rs ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยตามหลัก 3Rs คือ การใช้ซ้ำเป็นการซ่อมแซมอุปกรณ์ภายในบ้าน ซึ่งตอบถูกน้อยที่สุด ควรมีการจัดทำสื่อ เช่น วิดีโอ หรือลงพื้นที่ศึกษาดูงานเพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น