ความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ขวดนมเลี้ยงเด็กอายุ 2-4 ปี ของผู้เลี้ยงดูที่มารับบริการที่ศูนย์สาธิตส่งเสริมพัฒนาการทักษะสมองเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี
คำสำคัญ:
เด็กอายุ 2-4 ปี, ผู้เลี้ยงดู, การใช้ขวดนม, การเลิกใช้ขวดนมบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงพรรณนานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาระดับความรู้และความเชื่อของผู้เลี้ยงดูทั้งที่เลิกใช้และยังไม่เลิกใช้ขวดนมเลี้ยงเด็กที่มีความสัมพันธ์กับการเลิกใช้ขวดนมเลี้ยงเด็กอายุ 2-4 ปี ที่มารับบริการที่ศูนย์สาธิตส่งเสริมพัฒนาการทักษะสมองเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้เลี้ยงดูเด็กอายุ 2-4 ปี จำนวน 35 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่เลิกใช้ขวดนมเลี้ยงเด็กแล้ว 20 คนและกลุ่มที่ยังไม่เลิกใช้ขวดนมเลี้ยงเด็ก 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 ข้อมูลคุณลักษณะทั่วไป ตอนที่ 2 แบบวัดความรู้ของผู้เลี้ยงดูเรื่องการใช้ขวดนมเลี้ยงเด็ก ตอนที่ 3 แบบวัดความเชื่อของผู้เลี้ยงดู เกี่ยวกับการใช้ขวดนมเลี้ยงเด็กซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ และทดสอบความเชื่อมั่นด้วยวิธีอัลฟาของครอนบาค โดยแบบวัดความเชื่อและความรู้เกี่ยวกับการใช้ขวดนมเลี้ยงเด็ก ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.80 และ 0.74 ตามลำดับ เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม- 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมาน
คือ ไคสแควร์ (Chi – Square test)
ผลการศึกษาพบว่า ผู้เลี้ยงดูกลุ่มที่เลิกใช้ขวดนมส่วนใหญ่มีความรู้และความเชื่อเรื่องการใช้ขวดนมเลี้ยงเด็กอยู่ในระดับ ปานกลางและระดับสูง (ร้อยละ 50 และ 55 ตามลำดับ) ส่วนกลุ่มที่ยังไม่เลิกใช้ขวดนมส่วนใหญ่มีความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ขวดนมเลี้ยงเด็กอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 46.7 และ ร้อยละ 60 ตามลำดับ ส่วนผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ความเชื่อ กับการใช้ขวดนมเลี้ยงเด็กอายุ 2-4 ปี พบว่า ความรู้และความเชื่อกับการเลิกขวดนมไม่มีความสัมพันธ์กันทางสถิติ
จากผลการศึกษาครั้งนี้ ควรมีการจัดโปรแกรมหรือกิจกรรมการพัฒนาความรู้เรื่องการใช้ขวดนม เลี้ยงเด็กที่ถูกต้องแก่ผู้เลี้ยงดูเด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก้ผู้เลี้ยงดูในการดูแลเด็กที่ดีและมีคุณภาพต่อไป