การเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการได้รับโปรแกรมสร้างความรอบรู้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มารับบริการคลินิกโรคเรื้อรัง ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี

ผู้แต่ง

  • วรรณภา สันโดด

คำสำคัญ:

โปรแกรมสร้างความรอบรู้, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

บทคัดย่อ

            การศึกษานี้ เป็นวิจัยแบบทดลองเบื้องต้น เพื่อเปรียบเทียบระดับความรู้และระดับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคเบาหวานหลังเข้ารับโปรแกรมสร้างความรอบรู้ กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในคลินิกโรคเรื้อรัง ปี 2564 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในวิจัย ได้แก่ โปรแกรมสร้างความรอบรู้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และแบบสอบถาม ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป แบบทดสอบความรู้ และการปฏิบัติของผู้ป่วย ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ และค่าความเชื่อมั่นจากสูตรของครอนบาช ด้านความรู้ เท่ากับ 0.576 และด้านการปฏิบัติ เท่ากับ 0.664 เก็บรวบรวมข้อมูลแบบทดสอบกลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563-28 กุมภาพันธ์ 2564 วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมาน ได้แก่ Paired t-test

            ผลการศึกษา พบว่า ระดับความรู้ก่อนและหลังเข้ารับโปรแกรมอยู่ระดับสูง ร้อยละ 93.3 และร้อยละ 100.0 ระดับการปฏิบัติตัวก่อนอยู่ระดับปานกลาง ร้อยละ 76.7 และหลังอยู่ระดับปานกลาง ร้อยละ 96.7 เมื่อเปรียบเทียบความรู้ก่อนและหลังพบว่าไม่แตกต่างทางสถิติ ส่วนการปฏิบัติตัวก่อนและหลังพบมีการปฏิบัติตัวที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.014) การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้ที่ดี แต่การปฏิบัติตนปานกลาง เมื่อเข้ารับโปรแกรมนี้แล้วช่วยให้ผู้ป่วยมีความตระหนักจนส่งผลต่อการปฏิบัติตนที่ดีขึ้น โดยเน้นเนื้อหาเรื่องสาเหตุของโรคและความสำคัญของการรักษาให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลเห็นถึงอันตรายที่เกิดขึ้นได้หากปฏิบัติไม่ถูกต้อง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

28-09-2021