ผลของโปรแกรมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อพฤติกรรมการป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในผู้สูงอายุ เขตเทศบาลตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ผู้แต่ง

  • ไกรวัลย์ มัฐผา

คำสำคัญ:

ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, พฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า

บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Research) แบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The one group pretest-posttest design) เพื่อเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยความรอบรู้ด้านสุขภาพ พฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในผู้สูงอายุ ก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรม เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 50 คน ระยะเวลาทดลอง 8 สัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ค่าความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 0.80 นำไปทดลองใช้และวิเคราะห์ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติ Paired t-test

            ผลการวิจัยพบว่า หลังได้รับโปรแกรมกลุ่มทดลองมีค่าคะแนนเฉลี่ยความรอบรู้ด้านสุขภาพสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 เมื่อเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยความรอบรู้ด้านสุขภาพรายองค์ประกอบของกลุ่มตัวอย่างหลังการทดลองพบว่า ด้านความรู้ความเข้าใจ ด้านการเข้าถึงข้อมูลและบริการสุขภาพ ด้านการสื่อสาร ด้านการจัดการตนเอง และด้านการรู้เท่าทันสื่อ มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ากว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนด้านการตัดสินใจเลือกปฏิบัติพบว่าค่าคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกัน ส่วนค่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพช่วยให้ผู้สูงอายุมีความรอบรู้ด้านสุขภาพและมีพฤติกรรมการป้องกันโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 ที่ดีขึ้น ดังนั้นพยาบาลหรือบุคลากรสาธารณสุขสามารถที่จะนำโปรแกรมนี้ไปใช้พัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์การมีทางสุขภาพที่ดี

Downloads

เผยแพร่แล้ว

28-09-2021