พัฒนาเด็กไทย พัฒนาทักษะEF
บทคัดย่อ
ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่ใช้เทคโนโลยี มีการสื่อสารที่รวดเร็ว เข้าถึงข้อมูลที่ง่าย ในขณะเดียวกันการรับสื่อที่รวดเร็วก็ยากที่จะป้องกัน ทั้งในสื่อที่มีความรุนแรง สื่อลามก แม้กระทั่งการถูกล่อลวงจากบุคคลในเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ จากการสำรวจข้อมูลทางสถิติสภาวการณ์ทางวัฒนธรรมของเด็กและเยาวชนไทย ปี 2562(1) พบปัญหา อันดับ 1 คือ ปัญหาเยาวชนเสพยาเสพติดมากถึง 2.7 ล้านคน อันดับ 2 คือ ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร จากสถิติพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี ท้องถึงปีละ 1.5 แสนคน อันดับ 3 คือ เด็กถูกละเมิดและกลั่นแกล้ง กระทำความรุนแรงทางสื่อ(1) การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน จำเป็นที่ต้องแก้ไขตั้งแต่ปฐมวัย เด็กจะผ่านพ้นปัญหานี้ได้ต้องมี “ทักษะการคิดเชิงบริหาร” หรือเรียกสั้นๆว่า “ทักษะสมอง” (Executive function: EF)(2) ซึ่งEF ที่ดีจะมีความสัมพันธ์กับการมี IQ ที่ดี มีการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนที่ดี ความสำเร็จต่อการทำงาน ซึ่งช่วงเวลาสำคัญที่ต้องฝึกEF คือช่วงอายุ 3-5 ปี เพราะเป็นช่วงที่สมองมีความพร้อมในการพัฒนาการคิด สติปัญญา เรียนรู้ทางด้านอารมณ์ และควบคุมตัวเองได้ รู้ว่าควรทำและไม่ควรทำ เด็กจำเป็นต้องได้รับการฝึกทักษะ EF ที่ดี จากการสำรวจพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาด้านการคิดเชิงบริหาร(Executive function: EF) ของเด็กอายุ 2-6 ปี ของมหาวิทยาลัยมหิดล(3) ครอบคลุม 5 ด้าน คือ การยับยั้ง/การหยุด การยืดหยุ่นทางความคิด การควบคุมอารมณ์ ความจำขณะทำงาน และการวางแผนจัดการ พบว่าเด็กเกือบร้อยละ 30 พัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร(EF) โดยรวมล่าช้ากว่าเกณฑ์เฉลี่ย (T<45) และพบว่าเด็กวัย 2-6 ปี มากกว่าร้อยละ 30 มีปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหารมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย (T>55) สอดคล้องกับปัญหาเด็กและเยาวชนที่พบในปัจจุบัน จากข้อมูลประชากรจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2555 และข้อมูลสถิติการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2555(4) พบว่าเด็กอายุ 2 - 5 ปี อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ร้อยละ 67.09 ซึ่งเป็นช่วงที่สมองกำลังเริ่มต้นพัฒนาทักษะ EF หากเด็กได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง ถูกช่วงเวลา และต่อเนื่อง เด็กจะเติบโตมาเป็นคนที่รู้จักคิด รู้จักตัดสินใจ แก้ไขปัญหาได้เหมาะสม สามารถควบคุมอารมณ์ แสดงออกด้วยพฤติกรรมที่เหมาะสมได้(2) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้องมีการพัฒนาทักษะ EF ให้กับเด็กในศูนย์พัฒนาเด็ก ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี จึงพัฒนาแนวทางในการพัฒนาเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ด้วยการพัฒนาทักษะEF ผ่านกระบวนการเล่น กิจวัตรประจำวัน และกิจกรรมการเรียนรู้ในศูนย์เด็กเล็ก โดยการพัฒนาเป็น “ศูนย์พัฒนาทักษะ EF เด็กปฐมวัย” เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในเรื่องการส่งเสริมทักษะEF เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ลดปัญหาเด็กและเยาวชนที่เกิดจากการขาดความการยับยั้งชั่งใจ