รูปแบบการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ กรณีศึกษา-โรงเรียนเมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี

ผู้แต่ง

  • ยุพีพร มีแก้ว

คำสำคัญ:

รูปแบบการป้องกันโรคโควิด-19, โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ, โรคโควิด-19

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ กรณีศึกษาโรงเรียนเมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูอนามัยโรงเรียน ครู นักเรียน คณะกรรมการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขศูนย์สุขภาพชุมชนชยางกูร28 เจ้าหน้าที่เทศบาล และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จำนวน 17 คน และกลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามความรู้และพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ผู้วิจัยได้ทำการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โดยใช้สูตรการคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างของ Krejcie & Morgan ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 136 คน ใช้วิธีคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับรูปแบบการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และแบบสอบถามความรู้และพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 แบบทดสอบความรู้ได้ค่าความเชื่อมั่น (KR-2) เท่ากับ 0.749 ส่วนแบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.763 ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป วิเคราะห์โดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า โรงเรียนนำแนวทางการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษามาเป็นรูปแบบการป้องกันโรคโควิด-19 ในโรงเรียน ประกอบด้วย 1) ด้านความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อ 2) ด้านการเรียนรู้ 3) ด้านการครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส 4) ด้านสวัสดิภาพและการคุ้มครอง 5) ด้านนโยบาย และ 6) ด้านการบริหารการเงิน กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องการป้องกันโรคโควิด-19 อยู่ในระดับดี ร้อยละ 72.6 ระดับปานกลาง ร้อยละ 22.2 และต้องปรับปรุง   ร้อยละ 5.2 มีพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 อยู่ในระดับดี ร้อยละ 62.2 ระดับปานกลาง ร้อยละ 32.6 และต้องปรับปรุง ร้อยละ 5.2

Downloads

เผยแพร่แล้ว

23-11-2023