ความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ของประชากรกลุ่มวัยทำงาน ในเขตสุขภาพที่ 10

ผู้แต่ง

  • เจนวิทย์ ศรพรหม
  • ธเนศ ศรพรหม

คำสำคัญ:

ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, โรคไม่ติดต่อไม่เรื้อรัง, โรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคความดันโลหิตสูง, วัยทำงาน

บทคัดย่อ

ความสำคัญและปัญหา โรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ การป้องกันด้วยการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพมีหลักฐานที่สนับสนุนเพื่อช่วยลดโรค แต่อย่างไรก็ตาม เขตสุขภาพที่ 10 ยังขาดข้อมูลขนาดของปัญหาที่ทันสมัยและการประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดที่พบได้บ่อย

วัตถุประสงค์ เพื่อประมาณการความชุกและประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดที่พบได้บ่อย ของประชากรกลุ่มวัยทำงาน  เขตสุขภาพที่ 10

วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง ใช้ข้อมูลทุติยภูมิ จากสมุดสุขภาพประชาชน กรมอนามัย รวบรวมข้อมูลระหว่าง ม.ค.-ก.ค. 2565 ขนาดตัวอย่าง 25,092 คน ประมาณการความชุกและวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ด้วยสถิติการถดถอยโลจีสติก (logistic regression)

ผลการศึกษา  พบความชุกโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 7.79 โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 9.92 และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ ร้อยละ 31 การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพียงพอเป็นปัจจัยป้องกัน ร้อยละ 13 (AOR = 0.87; 95%CI: 0.79 to 0.97;
P=<0.001) และความรอบรู้ด้านสุขภาพต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพียงพอเป็นปัจจัยป้องกัน ร้อยละ 15 (AOR = 0.85; 95%CI: 0.78 to 0.93; P=<0.001) เมื่อเทียบกับผู้ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ
ไม่เพียงพอ

สรุปผลการศึกษา ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพียงพอจะช่วยเพิ่มการป้องกันการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดที่พบได้บ่อย แต่ทั้งนี้ค่าความเสี่ยง (Adjusted OR) ความรอบรู้ด้านสุขภาพจากการศึกษามีค่าไม่สูงมากนัก แสดงให้เห็นว่าเป็นปัจจัยที่สามารถป้องกันการเป็นโรคได้แต่ยังส่งผลไม่มากนัก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงควรต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

23-11-2023