การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ของประชาชนจังหวัดมุกดาหาร

ผู้แต่ง

  • สุทธิดา สืบทรัพย์
  • นิสิต อินลี
  • ประยุทธ เตียตระกูล
  • ศรินภัสร์ ยืนยงกิติกุล

คำสำคัญ:

การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ, ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน, จังหวัดมุกดาหาร

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ของประชาชนจังหวัดมุกดาหาร โดยใช้แบบสอบถามของกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำรวจข้อมูลจากประชาชน 310 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ความถี่ และร้อยละ

ผลการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 54.10 อาศัยอยู่ในหมู่บ้านมาแล้ว 20 ปี ร้อยละ 10.00 และได้รับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นระยะเวลา 10 ปี ร้อยละ 10.40 อาชีพหลักส่วนใหญ่ คือ ทำนา/ทำสวน/ทำไร่ ร้อยละ 38.50 สูบบุหรี่ ร้อยละ 26.70 มีโรคประจำตัว ร้อยละ 25.90 ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น  ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าประชาชนมีอาการป่วยเนื่องจากการได้รับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก ร้อยละ 19.50 โดยพบว่ามีอาการไอ ร้อยละ 65.47 ซึ่งผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 45.20 สำหรับข้อมูลการสัมผัสฝุ่นละออง ควันเขม่าและเถ้าที่ปลิวเข้ามาในบ้านหรือบริเวณบ้าน ในระยะเวลา 48 ชั่วโมง พบว่า แหล่งกำเนิดที่พบมากที่สุดคือฝุ่นควันจากโรงงานน้ำตาล ร้อยละ 58.90 รองลงมา คือควันจากการประกอบอาหาร ร้อยละ 55.60 และฝุ่นควันจากยานพาหนะ ร้อยละ 53.70

ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง ควัน เขม่าและเถ้า และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการจัดทำแผนชุมชนในการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สร้างระบบสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อการป้องกันผลกระทบสุขภาพจากรับสัมผัสฝุ่นละอองแก่ประชาชนในพื้นที่

Downloads

เผยแพร่แล้ว

23-11-2023