ผลของโปรแกรมการบำบัดโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนของผู้ป่วยใช้ยา และสารเสพติดที่ไม่มีโรคจิตร่วม ในเขตอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
คำสำคัญ:
โปรแกรมบำบัด, การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน, ผู้ป่วยใช้ยาและสารเสพติดบทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการบำบัดโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนของผู้ป่วยใช้ยาและสารเสพติดที่ไม่มีโรคจิตร่วม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดในสถานบริการโรงพยาบาลสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 ระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 40 ตัวอย่าง เลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน และเลือกเข้ากลุ่มกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 ตัวอย่าง โดยกลุ่มทดลองมีสมาชิกครอบครัว 1 คนและชุมชน 1 คน ร่วมในโปรแกรมฯ รวม 60 คน ซึ่งโปรแกรมการบำบัดโดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนคณะวิจัยได้สร้างขึ้นจากรูปแบบความเชื่อความเจ็บป่วย แนวคิดด้านความตั้งใจ และแนวคิดรูปแบบความเชื่อด้านสุขภาพ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ สถิติที่ใช้คือ จำนวน ร้อยละ Paired t-test Independent t – test และ Chi-square test
ผลการวิจัยพบว่า 1) กลุ่มทดลองหลังที่ได้รับโปรแกรมฯ มีค่าเฉลี่ยความตั้งใจในการเลิกใช้ยาและสารเสพติดที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=-15.67, p< .001) 2) ผลการเปรียบค่าเฉลี่ยคะแนนความตั้งใจในการหยุดใช้ยาและสารเสพติดกลุ่มทดลอง 8.05 (SD=1.09) สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่มีค่าเฉลี่ยคะแนน 4.45
(SD=1.46) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001) และ 3) กลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมฯ มีความตั้งใจในการมารับบริการบำบัดรักษามากกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามรูปแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(x2=0.15, p< .05) ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความตั้งใจและมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเข้ารับบริการบำบัดรักษาในสถานที่ใกล้บ้านใกล้ใจ โดยการมีส่วนร่วมของทั้งจากสมาชิกในครอบครัวและในชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย เกิดแนวทางและโอกาสในการพัฒนาสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนได้