ความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพต่อการมีภาวะเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อมของผู้สูงอายุ
คำสำคัญ:
ข้อเข่าเสื่อม, ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, พฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุบทคัดย่อ
บทคัดย่อ
วิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง วัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพและการปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุต่อภาวะเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม เลือกสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ที่มารับบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 231 คน การเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ค่าความสัมพันธ์โดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน
ผลการวิจัยดังนี้ ผู้สูงอายุมีความรอบรู้ด้านสุขภาพโรคข้อเข่าเสื่อมระดับปานกลาง ร้อยละ 50.2 ความรอบรู้ด้านสุขภาพทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1)ด้านความรู้ความเข้าใจ 2)การเข้าถึงข้อมูลและบริการสุขภาพ 3)การสื่อสารสุขภาพ 4)การจัดการตนเอง 5)การรู้ เท่าทันสื่อสารสนเทศ และ6)การตัดสินใจเลือกปฏิบัติ มีความสัมพันธ์เชิงบวก กับการปฏิบัติตัวของผู้สูงอายุเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม อย่างมีนัยสำคัญที่สถิติที่ระดับ 0.001 (r=0.574) และมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับภาวะเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (r=0.730) การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม มีความสัมพันธ์เชิงบวก กับภาวะเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อมของผู้สูงอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (r=0.737)
ผลการวิจัยครั้งนี้จะเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปกำหนดเป็นแนวทางในการวางแผนดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อป้องกันหรือชะลอความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม ตลอดจนการพัฒนาการให้บริการแก่ผู้สูงอายุเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุที่มารับบริการในโรงพยาบาลต่อไป