ผลการพัฒนารูปแบบทางการพยาบาลในการจัดการรายกรณีและการกำกับตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ให้เข้าสู่โรคเบาหวานระยะสงบ

ผู้แต่ง

  • อุษนีย์ รามฤทธิ์ โรงพยาบาลเรณูนคร

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2, การจัดการรายกรณี, การกำกับตนเอง, โรคเบาหวานระยะสงบ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi - Experimental Research) เพื่อศึกษาประสิทธิผลการพัฒนารูปแบบทางการพยาบาลในการจัดการรายกรณีและการกำกับตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ให้เข้าสู่โรคเบาหวานระยะสงบ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานได้รับการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (simple random sampling) คัดเลือกเข้าเกณฑ์โดยการเลือกวิธีการจับคู่ โดยใช้หลักการ “The Max Min Con Principle” และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน กลุ่มควบคุม 30 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามรูปแบบการจัดการรายกรณี 6 ขั้นตอน (1) ค้นหาและเลือกผู้ป่วย (2) ประเมินและวินิจฉัยปัญหา (3) วางแผนการทำงาน (4) ดำเนินการตามแผน (5) ประเมินผลการจัดการรายกรณี (6) กำกับกระบวนการการจัดการรายกรณี กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามรูปแบบบริการในคลินิกเบาหวาน ดำเนินการในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 - ตุลาคม พ.ศ. 2566 รวมระยะเวลา 1 ปี การวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลทั่วไป พฤติกรรมสุขภาพ และระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (A1C) วิเคราะห์โดยใช้ค่าจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (A1C) กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติ Pair t-test และ Independent t-test ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังเข้าร่วมกิจกรรม กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็ม น้อยกว่ากลุ่มควบคุม โดยเฉพาะการบริโภคอาหารหวาน มีคะแนนเฉลี่ย 6.33 (S.D. = 1.09) และ 7.47 (S.D. = 1.46) ตามลำดับ การออกกำลังกายและการใช้ยา กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.54 (S.D. = 6.31) และค่าเฉลี่ย 3.00 (S.D. = 1.98) ตามลำดับ และกลุ่มควบคุมมีคะแนนเฉลี่ยการออกกำลังกายอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 3.10 (S.D. = 7.02) การใช้ยาอยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ย 2.02 (S.D. = 2.29) และความเข้มแข็งทางใจทั้งสองกลุ่มอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผลลัพธ์ทางคลินิกระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (A1C) < 6.5% โดยไม่ใช้ยาเบาหวาน พบว่า กลุ่มทดลอง จำนวน 8 คน ร้อยละ 26.66 กลุ่มควบคุม จำนวน 2 คน ร้อยละ 6.66 เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (A1C) กลุ่มทดลองลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุม ค่าเฉลี่ย 6.3 (S.D. = 0.46) และ 6.6 (S.D. = 0.65) และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์วินิจฉัยโรคเบาหวาน โดยไม่ต้องใช้ยาเพื่อลดระดับน้ำตาลได้ หากมีการกำกับตนเอง เช่น การลดอาหารเค็ม การออกกำลังกาย และได้รับการกระตุ้นเตือนทั้งจากทีมสุขภาพและบุคคลในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ

References

สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค. รณรงค์วันเบาหวานโลก ปี 2564 ตระหนักถึงการดูแลรักษาโรคเบาหวาน ให้ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 8 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=21692&deptcode=brc

กระทรวงสาธารณสุข. ข้อมูลเพื่อตอบสนอง Service Plan สาขาโรคไม่ติดต่อ [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 8 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://hdcservice.moph.go.th/hdc/main/index.php

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม. ข้อมูลเพื่อตอบสนอง Service Plan สาขาโรคไม่ติดต่อ [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 8 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://npm.hdc.moph.go.th/hdc/main/index.php

กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค. นโยบายและยุทธศาสตร์ โรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 20 สิงหาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaincd.com

สมาคมโรคต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย. นิยามใหม่ภาวะเบาหวานสงบ [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 22 กรกฎาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaiendocrine.org/th/2021/10/05

สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2549.

ทิพมาส ชิณวงศ์. การจัดการรายกรณีผู้ที่เป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูงในชุมชน. วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ 2560;37(1):148-57.

วชิรา สุทธิธรรม, ยุวดี วิทยพันธ์, สุรินธร กลัมพากร. ผลของโปรแกรมพัฒนาความสามารถในการดูแลตนเองต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองและระดับฮีโมโกลบินเอวันซีของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โรงพยาบาลลานสกา. วารสารสภาการพยาบาล 2559;31(1):19-31.

ธีรพล ผังดี. ประสิทธิผลของโปรแกรมการส่งเสริมพฤติกรรมการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2. วารสารพยาบาลทหารบก 2560;8(Supplement):291-8.

หทัยชนก บัวเจริญ, วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย, บุษกร มงคลนิมิต. ผลของโปรแกรมการเสริมพลังอำนาจของพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนต่อพฤติกรรมการใช้ยาของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2. วารสารพยาบาลทหารบก2555;13(1):81-8.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

29-05-2024