การพัฒนารูปแบบการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยจิตเภทโดยผู้ดูแล และภาคีเครือข่ายในชุมชน ตามกรอบแนวคิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพจิต แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน

ผู้แต่ง

  • มยุรี ลัคนาศิโรรัตน์
  • จารุมน ลัคนาวิวัฒน์
  • สุวนิตย์ วงศ์ยงค์ศิลป์
  • ปิยวิทย์ เนกขพัฒน์

คำสำคัญ:

การพัฒนารูปแบบ, การดูแลต่อเนื่อง, ผู้ป่วยจิตเภท, ผู้ดูแล, ชุมชน, แนวคิดวิจัยและพัฒนา

บทคัดย่อ

     วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบและศึกษาผลลัพธ์ของการใช้รูปแบบการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยจิตเภทโดยผู้ดูแลและภาคีเครือข่ายในชุมชน อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

     วัสดุและวิธีการ การศึกษานี้เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนา ต่อยอดจากการพัฒนาเครือข่ายจิตเวชรูปแบบเดิมที่ใช้เครื่องมือ C3TRER ซึ่งการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ เป็นรูปแบบใหม่ ดำเนินการตามกรอบแนวคิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพจิต 7 ขั้นตอนของกรมสุขภาพจิต มาพัฒนารูปแบบการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยจิตเภทตามคุณสมบัติที่กำหนดจำนวน 48 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกการดูแลรักษาและติดตามผู้ป่วยจิตเภทรายบุคคล แบบประเมินความสามารถโดยรวม ตามโปรแกรมการพัฒนาการเข้าถึงบริการและการดูแลผู้ป่วยโรคจิตของกรมสุขภาพจิต และแบบประเมินคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา เปรียบเทียบผลลัพธ์ต่างๆ ด้วย สถิติ Wilcoxon signed ranks test และ Pair samples t-test

     ผล การวิจัยหลังพัฒนารูปแบบการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยจิตเภทโดยผู้ดูแลและภาคีเครือข่ายในชุมชน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการกำเริบรุนแรงต้องส่งต่อตามระบบ Service plan และระดับคะแนนอาการทางจิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนระดับคะแนนการรับประทานยา การทำกิจวัตรประจำวัน การประกอบอาชีพ สัมพันธภาพในครอบครัว ระดับคะแนนความสามารถโดยรวมและระดับคะแนนคุณภาพชีวิต เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

     สรุป จากผลการวิจัยและพัฒนารูปแบบการดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยจิตเภทโดยผู้ดูแลและภาคีเครือข่ายในชุมชน สนับสนุนให้ผู้ป่วยจิตเภทลดอาการกำเริบซ้ำรุนแรง ลดการส่งต่อ ความสามารถโดยรวมและคุณภาพชีวิตดีขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-04-30