ผลของโปรแกรมการจัดการอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายโดยการสวดมนต์ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • รัศมี ลือฉาย -

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย, อาการปวด, การสวดมนต์

บทคัดย่อ

     การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi - Experiment by two group pre-post design) แบบ 2 กลุ่ม วัดก่อนและหลังจัดกิจกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายโดยการสวดมนต์ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 3 และ 4 หรือมีการกระจายของโรคไปยังระบบต่างๆของร่างกาย นับถือศาสนาพุทธ ที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2565 – พฤษภาคม 2566 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างมาแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน โดยกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลตามปกติร่วมกับโปรแกรมการจัดการอาการปวดโดยการสวดมนต์ เป็นเวลา 7 วัน วัดผลก่อนและหลังการทดลองวันที่ 7 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ โปรแกรมการจัดการอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายโดยการสวดมนต์ ที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นจากรูปแบบการจัดการอาการของ Dodd et al. (2001) และแนวคิดเกี่ยวกับการสวดมนต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพยาบาลแบบผสมผสาน โดยโปรแกรมประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ 1) การประเมินความต้องการและประสบการณ์การรับรู้ของผู้ป่วย 2) การให้ความรู้ในการจัดการอาการปวด 3) การฝึกทักษะการสวดมนต์ และ 4) การประเมินผล ซึ่งสื่อที่ใช้ประกอบในโปรแกรม ประกอบด้วยแผนการสอนเรื่องการดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการปวด คู่มือการดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการปวดโดยการสวดมนต์ ซึ่งในเนื้อหาและแผนซีดีหรือไฟล์บันทึกเสียงการสวดมนต์คาถาอิติปิโสบทสรรเสริญพระพุทธคุณโดยผู้วิจัยทดสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน ทดสอบความเชื่อมั่นของเครื่องมือโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.83  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบความแปรปรวน และสถิติทดสอบที

     ผลการวิจัยพบว่า : 1) อาการปวดภายหลังการทดลอง 7 วันของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) อาการปวดภายหลังการทดลอง 7 วันของกลุ่มทดลองน้อยกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-08-31