ประสิทธิผลของโปรแกรมการเสริมสร้างสมรรถนะด้านสุขภาพของเด็กวัยเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ผู้แต่ง

  • สุภาภรณ์ ศรีสุพรรณ
  • บังอร กล่ำสุวรรณ์
  • ปาริชาต ภามนตรี
  • กรวิภา ภาคภูมิ
  • พรรณนภา แมดสถาน
  • ธิดารัตน์ เลิศวิทยากุล

คำสำคัญ:

โปรแกรมการเสริมสร้างสมรรถนะด้านสุขภาพ, ประสิทธิผลของโปรแกรม, นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย, การแพร่ระบาดโรคโควิด-19

บทคัดย่อ

     การวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยการเสริมสร้างสมรรถนะด้านสุขภาพของเด็กวัยเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนในเขตเทศบาลและโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ (กพด.) ก่อนและหลังการได้รับโปรแกรมฯของกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม และเพื่อศึกษาผลกระทบสุขภาพ ด้านความรอบรู้ การปฏิบัติ ทัศนคติ ระหว่างโรงเรียนในเขตเทศบาลและโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ (กพด.) หลังได้รับการอบรมโปรแกรมฯ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ของโรงเรียนในเขตเทศบาล จำนวน 2 โรงเรียน และโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ (กพด.) จำนวน 2 โรงเรียน จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอนรวมกลุ่มตัวอย่างจำนวน 120 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 60 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 60 คน เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมตามชุดความรู้หนูเพชร ด้วยโปรแกรมการเรียนรู้ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น และกลุ่มควบคุม จำนวน 60 คน เรียนรู้ด้านสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมตามหลักสูตรปกติของโรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามการสร้างเสริมสมรรถนะด้านสุขภาพของนักเรียน และ แบบประเมินสมรรถนะและผลกระทบสุขภาพวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน paired t-test และ ANOVA

     ผลการวิจัยพบว่าภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีความก้าวหน้าในการเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าการเรียนตามหลักสูตรปกติ โดยกลุ่มทดลอง มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าการเรียนตามหลักสูตรปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 แสดงว่า โปรแกรมฯ ทำให้นักเรียน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทัศนคติและการปฏิบัติตัวด้านสุขภาพสูงกว่าการเรียนปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-08-31