การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะฟื้นฟูสภาพ โรงพยาบาลคำม่วง :กรณีศึกษา 2 ราย
คำสำคัญ:
โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน, ระยะฟื้นฟู, การพยาบาลผู้ป่วยบทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะฟื้นฟูสภาพเป็นกรณีศึกษา 2 ราย เลือกแบบเจาะจง โดยคัดเลือกจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะฟื้นฟูสภาพ ที่เข้ามารับการรักษาในหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลคำม่วง ระหว่างเดือน มกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2566 จำนวน 2 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย จากผู้ป่วย และญาติ กำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล โดยใช้แนวคิด 11 แบบแผนสุขภาพของกอร์ดอน วางแผนปฏิบัติการพยาบาลตามข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล สรุปและประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาล
ผลการศึกษา พบว่า กรณีศึกษารายที่ 1 ผู้ป่วยชายไทย อายุ 69 ปี แขนขาซีกซ้ายอ่อนแรง การวินิจฉัย Right MCA infraction รับส่งต่อจากโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โดยให้จำหน่ายกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน มีประวัติโรคร่วม เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยมี Glasgow coma scale (GCS) E4VTM6 มีอาการแขนและขาด้านซ้ายอ่อนแรง Motor power ด้านซ้าย grade O ด้านขวา grade V ได้รับการเจาะคอและใส่ท่อไว้ รับประทานอาหารทางสายยาง ขณะที่รักษาที่โรงพยาบาลชุมชน มีปัญหาแทรกซ้อน คือ ไอขับเสมหะได้ลำบาก มีภาวะข้อติดแข็ง และแผลกดทับที่บริเวณสะโพก หลังรับการรักษาภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยอาการดีขึ้นตามลำดับ และสามารถจำหน่ายกลับบ้านได้ กรณีศึกษารายที่ 2 ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 63 ปี การวินิจฉัย Stroke track S/P rt- PA รับส่งต่อจากโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อมาฟื้นฟูสภาพที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน อาการสำคัญ แขนซ้ายอ่อนแรง ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด หลังรับการรักษาด้วยการได้รับยาละลายลิ่มเลือดชนิด rt-PA นอนพักรักษาที่โรงพยาบาล 7 วัน ผู้ป่วยได้รับการส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ประวัติโรคร่วม เบาหวาน ความดันโลหิตสูง Glasgow coma scale E4VTM6 มีแขนและขาด้านซ้ายอ่อนแรง Motor power ด้านซ้าย grade III ด้านขวา grade V ได้รับการรักษาด้วยยาและฟื้นฟูสภาพ ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมและอาการดีขึ้นตามลำดับ ไม่มีความพิการหลงเหลือ จำหน่ายกลับบ้านได้