ผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการควบคุมระดับความดันโลหิตของกลุ่มเสี่ยง โรคความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
คำสำคัญ:
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, การควบคุมระดับความดันโลหิต, โรคความดันโลหิตสูงบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi – Experiment Research) แบบวัดผลการศึกษาก่อน-หลังการทดลองและติดตามผล (One-group time series design) เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการควบคุมระดับความดันโลหิตของกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง กลุ่มตัวอย่าง 34 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย ระยะเวลาดำเนินการวิจัย 12 สัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูง การรับรู้เกี่ยวกับความดันโลหิตสูง พฤติกรรมการปฏิบัติของกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง และระดับความดันโลหิต วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์สถิติเชิงงอนุมาน Repeated Measures ANOVA ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05
ผลการวิจัย กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงที่เข้าร่วมโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการควบคุมระดับความดันโลหิต ภายหลังการทดลอง สัปดาห์ที่ 12 มีคะแนนเฉลี่ยความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูง การรับรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง พฤติกรรมการปฏิบัติตัวของกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง มากกว่าก่อนการทดลอง สัปดาห์ที่ 1 หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และมีค่าความดันโลหิต Systolic และ ความดันโลหิต Diastolic น้อยกว่าก่อนการทดลอง สัปดาห์ที่ 1 และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05