การพัฒนาแนวปฏิบัติการเตรียมความพร้อมในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่มารับการผ่าตัดคลอดครั้งแรกก่อนให้การระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังของวิสัญญีพยาบาล
คำสำคัญ:
การเตรียมความพร้อม, หญิงตั้งครรภ์, ภาวะความดันโลหิตสูง, ผ่าตัดคลอดครั้งแรกบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลลัพธ์แนวปฏิบัติการเตรียมความพร้อมในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่มารับการผ่าตัดคลอดครั้งแรกก่อนให้การระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังของวิสัญญีพยาบาล ระยะเวลาวิจัยเดือน สิงหาคม 2564 – กันยายน 2565 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่มารับการผ่าตัดคลอดครั้งแรก จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกการตรวจเยี่ยมก่อนให้ยาระงับความรู้สึก แบบประเมินผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด ASA Class แบบบันทึก anesthesia แบบประเมินความพึงพอใจ และความวิตกกังวล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยจำนวนร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Paired t-test และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)
ผลการศึกษา พบว่า 1. แนวปฏิบัติการเตรียมความพร้อมในหญิงตั้งครรภ์ฯ ประกอบด้วย 1) การประมินความพร้อม/ความวิตกกังวลเพื่อวางแผนการดูแล 2) กำหนดเกณฑ์และการเยี่ยมประเมินเตรียมความพร้อมหญิงตั้งครรภ์ที่ฯ ก่อนให้การระงับความรู้สึก 3) จัดทำสื่อให้ความรู้ เอกสารแผ่นพับและคลิปวีดิโอเกี่ยวกับ “การปฏิบัติตัวก่อนและหลังเข้ารับการผ่าตัดโดยทีมวิสัญญี” แก่หญิงตั้งครรภ์ฯ และญาติ 4) การวางแผนให้การระงับความรู้สึก การป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์/การเสียชีวิต 5) การส่งต่อข้อมูลการปฏิบัติเตรียมความพร้อมวันผ่าตัด ในทีมวิสัญญีพยาบาล 6) การติดตามเยี่ยมหลังผ่าตัดเพื่อวางแผนการพยาบาล 2. ผลลัพธ์การเตรียมความพร้อมในการดูแลในหญิงตั้งครรภ์ฯ ที่ มีค่าเฉลี่ยความวิตกกังวลลดลงทุกด้าน ความพึงพอใจอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด พบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตต่ำ 25.40% อาการคลื่นไส้/อาเจียน 4.76% อาการปวดในห้องพักฟื้น 1.59% อาการคัน 1.59% โดยผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้รับการจัดการปัญหา/การดูแลที่เหมาะสม