การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้วิถีใหม่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนยานาง ตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
คำสำคัญ:
การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน, ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้, จัดการสุขภาพด้วยตนเองบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะสุขภาพและบริบทของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์และพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้วิถีใหม่ ภายใต้บริบทโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนยานาง ตำบลดอนสมบูรณ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ มีระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 8 เดือน ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2565 – พฤษภาคม 2566 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) มากกว่า 7 ซึ่งอยู่ในระบบทะเบียนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนยานางและได้รับการดูแลตลอดช่วงเวลาการศึกษา จำนวน 253 คน เก็บข้อมูลจากแบบบันทึกข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Paired sample t – test
ผลการศึกษา พบว่า ก่อนดำเนินการ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้อายุมีปัญหาสุขภาพที่สำคัญคือ ภาวะน้ำหนักเกิน-โรคอ้วนระดับ 2, ภาวะความดันโลหิตสูง, ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) มากกว่า 7.01 % และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการสภาวะสุขภาพด้วยตนเองในภาพรวมอยู่ในระดับน้อย ผู้วิจัยได้พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้วิถีใหม่ ประกอบด้วย 1) การสร้างเสริมทักษะของผู้ป่วย/ญาติให้สามารถจัดการสภาวะสุขภาพด้วยตนเองและประสานรับการสนับสนุนจากทีมสุขภาพ 2) สร้างบทบาทให้ อสม. ให้เป็นโค้ชด้านสุขภาพ (Health coach) และรวบรวมบันทึกสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยส่งให้ รพ.สต. ก่อนวันนัดรับยา 3) ปรับระบบบริการใน คลินิก NCD รพ.สต.ในการบันทึกข้อมูล คัดกรองความเสี่ยง วินิจฉัย จัดกลุ่มสีผู้ป่วย และจัดช่องทางจ่ายยาให้ผู้ป่วย 4) ปรับระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้วิถีใหม่ และ 5) แจ้งทีมเยี่ยมบ้านออกเยี่ยมเสริมพลัง ให้ความรู้ และค้นหาภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย ส่งผลให้ ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้มีเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการสภาวะสุขภาพด้วยตนเองโดยรวมเพิ่มขึ้น ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1C) ก่อนและหลังดำเนินการมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยที่หลังดำเนินการระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) มีค่าลดลง (ค่า t เป็นบวก) และมีความพึงพอใจมากต่อระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้วิถีใหม่ที่พัฒนาขึ้น