การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลันก่อนการส่งต่อช่องทางด่วน : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • ฐิติพร ชนมนัส พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานอุบัติเหตุฉุกเฉินและนิติเวช โรงพยาบาลทุ่งตะโก

คำสำคัญ:

การพยาบาลโรคหลอดเลือดสมองตีบตันเฉียบพลัน, ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง, กรณีศึกษา

บทคัดย่อ

      การศึกษานี้เป็นกรณีศึกษา มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาข้อมูลการเจ็บป่วย ปัจจัยเสี่ยง พยาธิสภาพอาการและอาการแสดง การรักษา การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตันเฉียบพลัน แบบกรณีศึกษา 2 ราย ตั้งแต่ระยะก่อนถึงโรงพยาบาล (Pre-hospital) ระยะรักษาในโรงพยาบาล (In-hospital) และภายหลังจำหน่ายโดยการส่งต่อโรงพยาบาลแม่ข่าย(โรงพยาบาลหลังสวน) (Post-hospital) ผู้ศึกษาเลือกผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตันเฉียบพลัน ที่เข้ารับการรักษาห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลทุ่งตะโก และจำหน่ายโดยการส่งต่อทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) โรงพยาบาลหลังสวน ระหว่างวันที่ 1 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 จำนวน 2 ราย
     ผลการศึกษา การศึกษาเปรียบเทียบการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตันเฉียบพลัน แบบกรณีศึกษา จำนวน 2 ราย พบว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดที่เหมือนกันคือ เพศ และอายุ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต่างกัน รายที่ 1 มีภาวะอ้วนระดับที่ 2 ในรายที่ 2 เป็นโรคความดันโลหิตสูง นาน 26 ปี มีพฤติกรรมเสี่ยงจากการสูบบุหรี่และดื่มสุรา พยาธิสภาพอาการและอาการแสดง รวมทั้งการรักษา ทั้ง 2 ราย มีความคล้ายคลึงกัน แต่กรณีศึกษารายที่ 2  ได้รับยา Nicardipine ทางหลอดเลือดดำ ก่อนและระหว่างส่งต่อ Stroke fast track เนื่องจากระดับความดันโลหิตสูงตอนแรกรับ สำหรับ ข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลและการรักษา ระยะก่อนถึงโรงพยาบาล มีความแตกต่างกัน กรณีศึกษารายที่ 1 มีการรับรู้อาการและมีวิธีการจัดการเมื่อสงสัยโรคหลอดเลือดสมองล่าช้า ทำให้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการ จนถึงผู้เห็นเหตุการณ์นำส่งโรงพยาบาล เป็นระยะเวลา 2 ชั่วโมง ส่วนรายที่ 2 มีการรับรู้อาการสำคัญทางคลินิกและการจัดการอาการของโรคหลอดเลือดสมอง โดยการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ทำให้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีอาการ จนถึงนำส่งโรงพยาบาล มีระยะเวลา 30 นาที และผู้ป่วยได้รับการรักษาเบื้องต้น โดยตั้งแต่จุดเกิดเหตุ ระหว่างนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลมีความขัดข้องด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการเตรียมความพร้อมในการรับผู้ป่วยไม่มีความต่อเนื่อง ระยะในโรงพยาบาล มีการรักษาพยาบาลที่เหมือนกัน ตาม Stroke fast track protocol ต่างกันที่รายที่ 1 เสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองแตกเนื่องจากมีภาวะความดันโลหิตสูงตอนแรกรับ จึงได้รับยาลดระดับความดันโลหิตตามแผนการรักษา และระหว่างส่งต่อช่องทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลหลังสวน ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ได้รับการพยาบาลตาม Stroke fast track protocol อย่างต่อเนื่อง และระยะการติดตามการผลการรักษา ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ได้รับ CT Brain และได้รับยา recombinant tissue plasminogen activator (rt-PA) ทันเวลา ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับยา

References

ณฐกร นิลเนตร, ชนัญญา จิระพรกุล, และเนาวรัตน์ มณีนิล. (2561). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ. วารสารสุขศึกษา, 41(1), 62-75.

ถนอม นามวงศ์ และนริศรา อารีรักษ์. (2566). ความชุกและปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้สูงอายุ จังหวัดยโสธร. วารสารควบคุมโรค, 49(1), 149-57.

พรรณวลัย ผดุงวณิชย์กุล. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke). http://www.med.nu.ac.th/dpMed/fileKnowledge/106_2017-08-19.pdf.

มณฑิรา ชนะกาญจน์, และณิชาภัตร พุฒิคามิน. (2559). การรับรู้เกี่ยวกับโรค ปัจจัยเสี่ยง อาการนำ การรักษาและพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในบุคคลที่มีภาวะสุขภาพเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง. วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ, 39(1), 70-77.

วิทยาลัยการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย. (2563). แนวทางการรักษาแลการให้ยาละลายลิ่มเลือดสำหรับโรคสมองตีบเฉียบพลันภายนอกโรงพยาบาลและที่ห้องฉุกเฉิน.https://webportal.bangkok.go.th/upload/user/00000167/2563/km/260563.pdf

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์. (2562). แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน สำหรับแพทย์. กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพฯ.

สายสุนี เจริญศิลป์. (2564). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์. [สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยนเรศวร.

Brott T., Adams HP Jr., Olinger CP, et al. (1989). Measurements of acute cerebral infarction: a clinical examination scale. Stroke, 20, 864-870.

Dodd, M., Janson, S., Facione, N., Froelicher, E.S., Hummphreys, J., & Lee, K. (2001). Nursing theory and concept development or analysis advancing the science of symptom management. Journal of Advanced Nursing, 33(5), 668-676.

Hacke W, Kaste M, Fieschi C, et al. (1998). Randomized doubleblind placebo-controlled trial of thrombolytic therapy with intravenous alteplase in acute ischemic stroke (ECASS II). Lancet, 352, 1245-51.

Powers, W. J., Rabinstein, A. A., Ackerson, T., Adeoye, O. M., Bambakidis, N. C., Becker, K., Biller, J., Brown, M., Demaerschalk , B. M., Hoh, B., Jauch, E. C., Kidwell, C. S., Leslie-Mazwi T.M., Ovbiagele, B., Scott, P. A., Sheth. K.N., Southerland, A.M., Summers, D.V., Tirschwell, D. L., (2018). Guidelines for the early management of patients with acute ischemic stroke. Stroke, 49, e46–e99. DOI: 10.1161/STR.0000000000000158.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-06-30