การพยาบาลผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ : กรณีศึกษา 2 ราย
คำสำคัญ:
การพยาบาลผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นกรณีศึกษาเพื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยโรคหอบหืดที่มีอาการกำเริบเฉียบพลันจำนวน 2 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลร่องคำ เครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลได้แก่ ข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอก ข้อมูลการให้บริการที่คลินิกโรคหอบหืดแผนกผู้ป่วยนอก ข้อมูลผู้ป่วยใน การสังเกต สัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติ วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบตามแบบแผนสุขภาพ พยาธิสภาพ อาการแสดงและการรักษา แบบบันทึกทางการพยาบาลโดยใช้แนวคิดแบบประเมินผู้ป่วยตามแบบแผนทางด้านสุขภาพ 11 แบบแผนของกอร์ดอน เพื่อให้ทราบปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย นำข้อมูลที่ได้มาวางแผนให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคหอบหืดที่มีอาการหอบกำเริบเฉียบพลัน กำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล ให้การพยาบาลและประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาล
ผลการศึกษา : กรณีศึกษารายที่ 1 เพศชาย อายุ 29 ปี โรคประจำตัว โรคหอบหืด ความดันโลหิตสูง อาการสำคัญ ไอ หายใจลำบาก เป็นมา 2 วัน ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาโดยการใช้ยาพ่น สเตียรอยด์ ยาพ่นขยายหลอดลม ยาฉีดระงับการอักเสบ ยาแก้ไอขับเสมหะ ให้ออกซิเจนเพื่อบรรเทาอาการหอบเหนื่อย หลังรับการรักษาอาการดีขึ้นตามลำดับ แพทย์จำหน่ายกลับบ้าน ระยะเวลาการรักษา 4 วัน จากประวัติที่มารับการรักษาที่คลินิกหอบหืด ผู้ป่วยหยุดยาเอง เป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน สูบบุหรี่ 10 มวน/วัน สัมผัสฝุ่นทุกวันเนื่องจากเลี้ยงไก่ชน เคยนอนโรงพยาบาลด้วยหลอดลมอักเสบ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เป็นปอดอักเสบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 กรณีศึกษารายที่ 2 เพศหญิง อายุ 60 ปี โรคประจำตัวโรคหอบหืด อาการสำคัญ ไอ หายใจหอบเป็นมา 3 ชั่วโมง ได้รับการรักษาโดยยาพ่นและยากินสเตียรอยด์ ให้ออกซิเจนเพื่อบรรเทาอาการหอบ เหนื่อย ยาแก้ไอขับเสมหะ ยาพ่นขยายหลอดลม ยาฉีดระงับการอักเสบ ยาฉีดและยากินปฏิชีวนะเนื่องจากมีการติดเชื้อที่ปอด ผู้ป่วยนอนพักรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 6 วัน จึงเข้าสู่ภาวะปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อน จากประวัติที่มารับการรักษาที่คลินิกหอบหืด ผู้ป่วยรายนี้มารับยาไม่สม่ำเสมอ พ่นยา สเตียรอยด์ไม่ต่อเนื่อง ใช้ถ่านประกอบอาหาร เผาขยะที่บ้าน 2 – 3 ครั้ง/สัปดาห์ ทำให้ได้รับฝุ่น ,ควัน ยังควบคุมอาการหอบไม่ได้ ช่วงเดือน มกราคม - กันยายน 2566 ผู้ป่วยมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการไอ หายใจหอบ 6 ครั้ง ได้รับการพ่นยาขยายหลอดลม จึงบรรเทาอาการหอบ
References
สมจิต หนุเจริญกุล. การพยาบาลทางอายุรศาสตร์ เล่ม2: พิมพ์ครั้งที่ 16.กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี เจ พริ้นติ้ง,2552.
สมาคมสภาองค์กรโรคหอบหืดแห่งประเทศไทย. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหอบหืดในประเทศไทยสำหรับผู้ใหญ่ พ.ศ.2560. พิมพ์ครั้งที่2. นนทบุรี : บียอนด์เอ็นเทอร์ไพร์ซ;2560.
กระบวนการพยาบาลและแบบแผนสุขภาพ. การประยุกต์ใช้ทางคลินิกผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรศิริ พันธสี. ตุลาคม 2557 (หน้า 1 – 7)พิมพ์อักษรจำกัด กรุงเทพฯ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เฉลิมพระเกียรติ.
การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ. นายแพทย์อุกฤษฎ์ มิลินทางกูร. พิมพ์ที่ 2 พ.ศ.2541 การพยาบาลผู้ป่วยโรคหอบหืด (หน้า 578-590)
การพยาบาลพื้นฐาน ปรับปรุงครั้งที่ 1 สุปาณี เสนาดิสัย วรรณาภา ประไพพานิช.การประเมินภาวะสุขภาพ หน้า66-93) พฤศจิกายน 2562. พิมพ์ที่บริษัทจุดทองจำกัด กรุงเทพฯ.