บทบาทผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงในการร่วมบังคับใช้กฎหมายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง :กรณีศึกษา
คำสำคัญ:
ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง, การบังคับใช้กฎหมาย, กลุ่มเปราะบางบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นกรณีศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการใช้บทบาทของผู้ปฏิบัติการพยาลขั้นสูงสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนในการช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการปกป้องสิทธิและประโยชน์ของตนเอง กรณีนี้เป็นเด็กหญิงอายุ 9 ปีที่มารดาไม่ยอมให้ไปโรงเรียนตามเกณฑ์การศึกษาขั้นพื้นฐานและถูกกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ในการที่จะช่วยเหลือกรณีเด็กรายนี้จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วนตามบทบาท อำนาจและหน้าที่ของแต่ละส่วนงาน เพื่อให้กรณีเด็กรายนี้ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิของเด็ก 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม ในบทบาทผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการประสานมาจากพยาบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและนักพัฒนาชุมชนประจำเทศบาลของพื้นที่ ได้เข้าไปให้คำปรึกษาเบื้องต้น แต่ไม่ได้ผลจึงปรึกษาอัยการคุ้มครองสิทธิประจำจังหวัด อัยการแจ้งมาว่า น่าจะมีความผิดตามกฎหมายหลายมาตรา แนะนำให้แจ้งหน่วยงานฝ่ายปกครอง หน่วยงานพัฒนาสังคมของมนุษย์ประจำจังหวัด เพื่อดำเนินการให้รัดกุมตามกฏหมายและไม่กระทบกระเทือนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และความสัมพันธ์ของทั้งมารดาและเด็ก ในขั้นตอนการดำเนินการผู้ศึกษาได้นำสมรรถนะผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงและทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็มมาประยุกต์ใช้
ผลการศึกษานี้ พบว่าการประยุกต์ใช้สมรรถนะด้านต่างๆของผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงระยะต่างๆของการให้ความช่วยเหลือบุคคลเปราะบางกรณีเด็กหญิงรายนี้ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการเข้าไปช่วยเหลือ ระยะการดำเนินการหลังจากมีการปรึกษาอัยการคุ้มครองสิทธิและการวางแผนการดำเนินการตามกฏหมายและระยะติดตามหลังการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือ มีการปรึกษาผู้ศึกษามาตลอดในการที่จะเข้าไปดำเนินงานต่างๆ โดยคำนึงถึงสิทธิเด็กและสภาพจิตใจเป็นสำคัญ ในส่วนของผู้ศึกษาได้ใช้ทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็ม ทำให้เห็นความเด่นชัดในทฤษฎีความพร่องในการดูแลตนเองในแง่มุมทางด้านร่างกาย อารมณ์และสังคม
References
บวรศม ลีระพัน และคณะ. “แนวคิดและแนวปฏิบัติเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย.” วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559) : 443.
”Parternalism.'',https://standford.library.sydney.edu.au/archives/win2015/entries/paternalism/, 11 พฤษภาคม 2567
พลเดช ปิ่นประทีป. ''ขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ ''กลุ่มเปราะบาง"โฟกัสเป้าหมาย-บูรณาการข้ามภาคส่วน-ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย." เกาะติด 4PW. ฉบับที่ 10 (2560) : 1.
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 16 ง 30 มกราคม 2552 ประกาศสภาการพยาบาล เรื่องขอบเขตและสมรรถนะผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง สาขาต่างๆ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2562
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน พูดด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก convention on the right of the child และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก(optional protocol to the convention on the right of child).กรุงเทพมหานคร : สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ.
สมจิต หนุเจริญกุล. (2544). ทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม. ใน สมจิต หนุเจริญกุล (บรรณาธิการ), การดูแล ตนเอง:ศาสตร์และศิลปะทางการพยาบาล. (พิมพ์ครั้งที่6, หน้า 17-55). กรุงเทพฯ: วี.เจ.พรินติ้ง.
Orem, D. E., Taylor, S. G., & Renpenning, K. M. (2001). Nursing: Concept of practice (6th ed.). St. Louis: Mosby.