การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการลดการเกิดภาวะภูมิไวเกินจากการได้รับยากลุ่ม Paclitaxel Carboplatin ในผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลสุโขทัย
คำสำคัญ:
แนวปฏิบัติการพยาบาล, ภาวะภูมิไวเกิน, ยาเคมีบำบัด, มะเร็ง Paclitaxel Carboplatinบทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการลดอัตราการเกิดภาวะภาวะภูมิไวเกิน และ ลดระดับความรุนแรงของการเกิดภาวะภูมิไวเกินจากยาในผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชที่รับยากลุ่ม Paclitaxel Carboplatin ตามรูปแบบการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพยาบาลของ ซูคัพ (Soukup, 2000) กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ได้รับยาเคมีบำบัดกลุ่ม Paclitaxel Carboplatin ในการรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชที่โรงพยาบาลสุโขทัย จำนวน 89 ราย เก็บข้อมูลจากแบบบันทึกอาการเกิดภาวะภูมิไวเกินจากการได้รับยากลุ่ม Paclitaxel Carboplatin และระดับการเกิดภาวะภูมิไวเกิน และระยะเวลาในการให้ยาเคมีบำบัด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ สถิติทดสอบได้แก่ Independent T-test และ Chi – square ตามลักษณะของข้อมูล
ผลการวิจัยพบว่า ระยะที่ 1 ผู้ป่วยเกิดภาวะภูมิไวเกินร้อยละ 41.83 และพบความรุนแรงตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 4 มีการบริหารเวลาในการให้ยาเกิน 180 นาที ร้อยละ 53.06 จัดเป็น Specific Clinical risk ระดับ E และ H ระยะที่ 2 สืบค้นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาทางคลินิก ได้วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องจำนวน 15 ฉบับ ระยะที่ 3 สร้างแนวปฏิบัติการพยาบาล นำมาทดลองใช้ และ ปรับปรุง 2 ครั้ง นำไปประเมินคุณภาพของแนวปฏิบัติโดยใช้แบบประเมิน AGREE II จากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 ท่าน ได้แนวปฏิบัติที่เรียกว่า แนวปฏิบัติการพยาบาลในการบริหารยากลุ่ม Paclitaxel Carboplatin แบบ SBT (Sukhothai hospital Best Titrate) ระยะที่ 4 นำแนวปฏิบัติการพยาบาลในการบริหารยาแบบ SBT ไปใช้จริง พบว่า 1) อัตราการเกิดภาวะภูมิไวเกินของผู้ป่วยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกัน (p- value 0.05) 2) ความรุนแรงของภาวะภูมิไวเกินของกลุ่มทดลอง ไม่เกินระดับ 2 ส่วนกลุ่มควบคุม ไม่เกินระดับ 4 3) สัดส่วนของการได้รับยาเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา180 นาทีของกลุ่มทดลองแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p- value 0.05)
References
โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง. (2559). ผลงานวิจัย R2R และงานประเมินเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำปีงบประมาณ 2559 (พิมพ์ครั้งที่1). ลำปาง.
สายฤดี นาคสนอง. (2561). ประสิทธิผลของการบริหารยา Paclitaxel ในชั่วโมงแรก เพื่อลดอุบัติการณ์ปฏิกิริยาภูมิไวเกินในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรงพยาบาลอุตรดิดถ์.
อัญชลี อ้วนแก้ว. (2562). การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดต่อการเกิดภาวะภูมิไวเกิน. การประชุมวิชาการและการนำเสนองานวิจัยระดับชาติ ราชธานีวิชาการครั้งที่ 4 (หน้า 737-744). อุบลราชธานี
นวลอนงค์ คำโสภา. และศรัณยา หงษ์ไทย. (2560). การเปรียบเทียบการเกิดภาวะภูมิไวเกินระหว่างการให้ยาแบบช้ากับการให้ยาแบบปกติ ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยากลุ่ม Taxnes.
AGREE Next Steps Consortium (2009). The AGREE II Instrument [Electronic version]. Retrieved < Month, Day, Year>, from http://www.agreetrust.org .
สาขามะเร็งนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี.(2565).การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด.