ผลของแนวทางการเข้าถึงบริการในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยใช้กระบวนการเสริมพลังเครือข่าย

ผู้แต่ง

  • ภรณพรรษสร พุฒวิชัยดิษฐ์
  • ยุทธกรานต์ ชินโสตร

คำสำคัญ:

การเข้าถึงบริการในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง1, กระบวนการเสริมพลังเครือข่าย2

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) สาเหตุของผู้ป่วยไม่เข้าถึงบริการในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง 2) แนวทางการเข้าถึงบริการในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยกระบวนการเสริมพลังเครือข่าย และ3) เปรียบเทียบผลก่อนและหลังการนำแนวทางไปปฏิบัติ โดยใช้กรอบแนวคิดการเสริมพลังของกิ๊บสัน (Gibson, 1995) มาปรับใช้ เครือข่ายประกอบด้วยผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง 38 คน ครอบครัวกรณีผู้ป่วยเด็ก จำนวน 2 คน ทีมสุขภาพ 5 คน อสม. จำนวน 11 คน คัดเลือกตามเกณฑ์คัดเข้า การดำเนินการวิจัยมี 4 ระยะ ได้แก่ 1) การศึกษาสาเหตุผู้ป่วยไม่เข้าถึงบริการในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก 2) กระบวนการเสริมพลังเครือข่ายเพื่อค้นหาแนวทางร่วมกันด้วยการประชุมกลุ่ม ระยะที่ 1 และ 2 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาและสถิติบรรยาย 3) การนำแนวทางการเข้าถึงบริการในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังไปปฏิบัติและประเมินผลเป็นระยะเพื่อนำไปสู่การปรับแผน 4) การสรุปและเปรียบเทียบผลการวิจัยด้วยสถิติ Paired t-test กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการวิจัย พบว่าหลังกระบวนการเสริมพลังเครือข่ายได้ร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุ หาแนวทางในการเข้าถึงบริการในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง สาเหตุผู้ป่วยไม่เข้าถึงบริการในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังจากผู้ป่วย/ ครอบครัวได้แก่ อาชีพ เช่น ทำงานโรงงาน เดินทางไม่สะดวก ไม่มีคนพามาตรวจ ลืมวันนัด ติดธุระ ยาเหลือ คิดว่าอาการดีขึ้นไม่ต้องใช้ยา ติดเรียน นัดหลายโรคไม่ตรงกัน จำวันนัดผิด จากทีมสุขภาพ ได้แก่ คำพูด/พฤติกรรมบริการ แพทย์เปลี่ยนบ่อย เจ้าหน้าที่น้อย ใบนัดตัวหนังสือเล็กอ่านไม่ชัดเจน จากระบบบริการ ได้แก่ ขั้นตอนมาก รอนาน วันเปิดบริการน้อย แนวทางการเข้าถึงบริการในคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ นัดนาน 2-3 เดือนในรายที่ไม่สะดวกมาและคุมอาการได้ นักเรียนมา 15.30-16.00 น.โทรศัพท์เตือน เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้การรักษาต่อเนื่อง นัดพร้อมโรคอื่น โทรเลื่อนนัด บริการ Hotline อยู่ใกล้กันมาด้วยกัน ชุมชนร่วมมือ จัดแพทย์ประจำ เสริมเจ้าหน้าที่ ปรับปรุงพฤติกรรมบริการ ใบนัดตัวหนังสือใหญ่ขึ้น จัดระบบ One Stop Service เปิดบริการทุกสัปดาห์ หลังการวิจัยพบว่ามีผู้ป่วยมารักษาในคลินิกเพิ่มขึ้นร้อยละ45.93 คน และ 49.14 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการขาดนัดและจำนวนครั้งของการเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินด้วยหอบกำเริบหลังจากการนำแนวทางไปปฏิบัติน้อยกว่าก่อนนำแนวทางไป
ปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 การวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะให้มีการแก้ปัญหาโดยใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางในการหาแนวทางร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-04