การพัฒนากระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพชุมชน สำหรับภาคีเครือข่าย สุขภาพชุมชนตำบลบางปะกง
คำสำคัญ:
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพชุมชน, ระบบ, ผู้ดูแลในครอบครัวบทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนากระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพชุมชนสำหรับภาคีเครือข่ายสุขภาพชุมชน ตำบลบางปะกง การศึกษาแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ (1) ศึกษาความต้องการและข้อจำกัดจากกระบวนการเดิมที่พัฒนาขึ้น (2) พัฒนากระบวนการและ (3) ประเมินกระบวนการ กลุ่ม
ตัวอย่างในการทดลอง คือ ผู้ดูแลบุคคลในครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือภาวะอ้วน ลงพุง ถึงอ้วนอันตราย อย่างน้อย 1 คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ (1) แบบทดสอบความรู้ มีค่าความเชื่อมั่นตามสูตร คูเดอร์ ริชาร์ดสัน สูตรที่ 20 ทั้งฉบับเท่ากับ 0.87 (2) แบบประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.75 และ (3) แบบประเมินความพึงพอใจ มีค่าดัชนีความสอดคล้องของเนื้อหา เท่ากับ 1.00 สถิติที่ใช้คือความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานการทดสอบค่าทีแบบไม่เป็นอิสระต่อกันและการทดสอบค่าทีแบบกลุ่มเดียวผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างยังไม่รู้ระยะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง ไม่ทราบปัญหาในการหาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเอง คิดเป็น ร้อยละ 96.67 กระบวนการที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย การเพิ่มวิธีการ เทคนิคในการประเมินตนเอง กิจกรรมและแนวทางในการดำเนินกิจกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การประเมินผลหาประสิทธิภาพโดย การประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่ามีความเหมาะสมด้านเนื้อหาเท่ากับ 0.92 กลุ่มตัวอย่างมีความรู้หลังเข้ากระบวนการสูงกว่าก่อนการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีคะแนนทักษะด้านพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องตามเกณฑ์ในระดับร้อยละ 80 ขึ้นไป และมีความพึงพอใจต่อกระบวนการอยู่ในระดับมากที่สุด