กรณีศึกษา การพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
บทคัดย่อ
ภาวะกระดูกข้อสะโพกหัก พบบ่อยในสตรีสูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60 - 80 ปี ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการรับไว้ในโรงพยาบาล และพบว่าอัตราตายจะสูงสุดใน ช่วง 6 เดือนแรกหลังจากเกิดกระดูกสะโพกหัก พบการหักแบบ Close fracture มากกว่า Open fracture การรักษามี 2 วิธี คือ การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกที่หักและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมี 2 แบบ ได้แก่ การผ่าตัดเปลี่ยนแบบสองชั้น (Bipolar hemiarthroplasty) ซึ่งวิธีนี้กระดูกอ่อนที่เบ้าสะโพกยังดีอยู่ และการผ่าตัดเปลี่ยนทั้งหัวสะโพกและเบ้าเทียม (Total hip arthroplasty) การรักษาแบบนี้เนื่องจากมีการเสื่อมของกระดูกอ่อนที่เบ้าสะโพก การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมนั้นมีความสำคัญทุกขั้นตอนตลอดระยะการผ่าตัด เริ่มตั้งแต่ การเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด การเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด การเตรียมอุปกรณ์พิเศษสำหรับทำผ่าตัดข้อสะโพก การตรวจสอบความถูกต้องทุกลำดับขั้นตอน การให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนหลุดของข้อสะโพกเทียม ดังนั้นพยาบาลห้องผ่าตัดจำเป็นต้องศึกษาขั้นตอนการผ่าตัด การเดรียมเครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างละเอียด ถูกต้อง รวดเร็ว รวมถึงการใช้แนวทางกระบวนการพยาบาลห้องผ่าตัดในการดูแลผู้ป่วยทั้งก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด หลังผ่าตัด ดลอดจนแนะนำการดูแลตนเองเมื่อจำหน่ายกลับบ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขในสังคมได้ดังเดิม
รวมทั้งโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ได้เป็นศูนย์รับส่งต่อในเขตโซนใต้ของจังหวัดขอนแก่น และเป็นโรคหลักหนึ่งใน Service Plan ของศูนย์สุขภาพเขต 7 ด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกข้อสะโพกหัก จึงเริ่มมีการรับส่งต่อมามากขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้ศึกษาจึงสนใจทำการศึกษาเรื่องดังกล่าว เพื่อใช้เป็นแนวทางในการให้การพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น