การศึกษาภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของค่าการทดสอบทางชีวเคมีในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด -19 ใน โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

ผู้แต่ง

  • ประภัยศรี รัตนบุญกาญจน์

คำสำคัญ:

โรคติดเชื้อโควิด -19, สารชีวเคมีในเลือด, C-reactive protein Creatinine

บทคัดย่อ

การศึกษาภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของค่าการทดสอบทางชีวเคมีในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด -19 ใน
โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ค่าการทดสอบทางชีวเคมีในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด -19 ที่มีอาการไม่รุนแรงและในผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

วิธีการศึกษา :องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคโควิด –19เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 และประกาศเป็นการระบาดใหญ่ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 และแนะนำให้ทุกประเทศเร่งรัดการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาด เตรียมความพร้อมในการรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ติดเชื้อ โรคโควิด –19 มีอาการได้หลายแบบแตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย มีอาการรุนแรงเป็นปอดอักเสบ หรือ จนกระทั่งเสียชีวิต การตรวจวิเคราะห์ทั่วไปทางห้องปฏิบัติการ นอกเหนือจากสามารถบอกความรุนแรงของโรคและติดตามการรักษาแล้ว ยังช่วยในการตัดสินใจให้การปฏิบัติต่อผู้ป่วยหรือวางแนวทางการรักษาในอนาคตอีกด้วย การศึกษาในครั้งนี้ศึกษาในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด -19 และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ช่วงระหว่างเดือน ตุลาคมพ.ศ.2564 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ศึกษาโดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยจากเวชสถิติซึ่งประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานทั่วไปและผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดทางห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก ที่ประกอบด้วย การตรวจวิเคราะห์ BUN Creatinine Electrolyte SGOT SGPT และ CRP ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการรุนแรง และผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต จากนั้นวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลผู้ติดเชื้อทั้งสองกลุ่มโดยใช้สถิติ Cochran Test และ Fisher's Exact
ผลการศึกษา : ผลการศึกษาพบว่า ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงจำนวน 322 รายมีผลการวิเคราะห์ในรายการทดสอบ BUN, Creatinine, CPR และ CO2 ผิดปกติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ผู้ที่ติดโควิด -19 ที่เสียชีวิตจำนวน 27 ราย มีผลการวิเคราะห์ในรายการทดสอบ BUN, Creatinine, SGOT, CPR, Na, K, Cl และ CO2 ผิดปกติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อทำการเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ระหว่างสองกลุ่มพบว่า ความผิดปกติของค่า Creatinine และ CRP เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อการเสียชีวิตของคนไข้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สรุป : การศึกษานี้สรุปได้ว่าความผิดปกติของค่า Creatinine และ CRP เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด -19 สารชีวเคมีทั้งสองชนิดจึงมีความเหมาะสมที่จะใช้ในการติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลซึ่งอาจมีการดำเนินโรคที่รุนแรงขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-30