กลยุทธ์การพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • ภาสกร แห่งศักดิ์ศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

คำสำคัญ:

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ   มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ      ศึกษาปัญหาและอุปสรรคการปฏิบัติงานและเพื่อค้นหากลยุทธ์การพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ  ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่     ในภาคเรียนที่   2    ปีการศึกษา  2559     กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ    1)   นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ   จำนวน   377  คน    2)  อาจารย์นิเทศก์   จำนวน   67  คน   และ  3)   ผู้บริหารหน่วยงาน  หรือหัวหน้างานที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารหน่วยงาน   จำนวน 138  คน     โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล    สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย  ค่าส่วนเบี่ยงมาตรฐาน

               ผลการศึกษาพบว่า   การปฏิบัติงานการฝึกประสบการณ์วิชาชีพมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในระดับหนึ่ง แต่ยังพบข้อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ดังนี้  1) นักศึกษาบางคนได้รับมอบหมายงานที่ไม่ตรงกับสาขาวิชาที่ตัวเองเรียน   2) ไม่ควรส่งนักศึกษารุ่นต่อไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพในบางหน่วยงาน    3)  การขาดความรู้เกี่ยวกับสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 4) ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการทำงาน  5) ปริมาณงานที่นักศึกษาได้รับมอบหมายให้ทำขณะฝึกประสบการณ์วิชาชีพน้อย  6) ได้ความรู้และประสบการณ์จากการฝึกประสบการณ์วิชาชีพน้อย    7)   การหาสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษายังมีปัญหา      8)   โปรแกรมวิชาเตรียมการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้นักศึกษาไม่เพียงพอสำหรับการไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ          9)    การนิเทศการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา  อาจารย์นิเทศก์ไม่ได้ประสานกับนักศึกษาเบื้องต้นวันที่อาจารย์ไปนิเทศ   ตรงกับวันหยุดของนักศึกษาเลยไม่ได้นิเทศ      10)   มีบางหน่วยงานไม่ประสงค์จะรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพรุ่นต่อไป   11)  ในการประเมินผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพหลังเสร็จสิ้นการฝึกบางหน่วยงานได้ฝากผลการประเมินมาพร้อมกับนักศึกษา  บางหน่วยงานส่งกลับมาทางไปรษณีย์ ทำให้นักศึกษาได้รับผลการประเมินล่าช้าและเกิดการสูญหายระหว่างทาง จากการศึกษาปัญหาและอุปสรรค   ทำให้ได้กลยุทธ์การพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ดังนี้     1)   สาขาวิชาควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเป็นการแนะนำจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง 2)   สาขาวิชา / คณะ    ควรจัดอบรมเสริมทักษะทางภาษา   ทักษะการใช้อุปกรณ์สำนักงานเบื้องต้น     ทักษะทางคอมพิวเตอร์      และควรฝึกให้นักศึกษามีความพร้อมในเรื่องของการทำงานที่อยู่ภายใต้แรงกดดันต่าง  ๆ    3)   นักศึกษาที่ไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพทุกคนควรได้รับการนิเทศจากอาจารย์นิเทศก์ของแต่ละหลักสูตร   โดยมีจำนวนครั้งในการนิเทศขั้นต่ำตามที่คณะกำหนด     และ   4)   การประเมินผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพคณะ ควรจัดทำระบบ ติดตามและประเมินผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแบบออนไลน์เพื่อลดปัญหาในการติดตามการจัดส่งแบบประเมินผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา

References

ขนิษฐา พามาและประสิตา อินทะจันทร์. (2550). ระบบจัดการติดตามและประเมินผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักเรียนนักศึกษา กรณีศึกษา : วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก. พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร.

เด่นชัย สมปอง. (2555). การศึกษาและปัญหาการจัดการฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษา หลักสูตรบริหารธุรกิจ ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา. คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัย ราชภัฏสกลนคร.

นกน้อย สุทธิสนธ์. (2550). การศึกษาระบบและการวิธีการจัดการการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

ประมวล ตันยะและคณะ. (2543). การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและแนวทางการจัดการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ นักศึกษาสถาบันราชภัฏนครราชสีมา. นครราชสีมา: สถาบันราชภัฏนครราชสีมา.

พรรณราย เทียมทัน และอนุวัติ คูณแก้ว. (2552). การวิจัยและพัฒนารูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์. เพชรบูรณ์: มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์.

พิบูล ทีปะปาล. (2551). การจัดการเชิงกลยุทธ์. กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ.

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. (2560). วิสัยทัศน์และพันธกิจ. www.cmru.ac.th/วิสัยทัศน์และพันธกิจ.

ศุภกิจ วิทยาศิลป์. (2550). การศึกษาระบบและวิธีบริหารจัดการการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

13-06-2023